เปิดสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีไทย ดันรถไฟความเร็วสูงเกิด
เปิดรายละเอียด สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีไทย ปัจจัยสำคัญของการผลักดันรถไฟความเร็วสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับระบบโลจิสติกส์ในประเทศให้สูงขึ้น
เป้าหมายสำคัญของการพัฒนาโรงการรถไฟความเร็วสูง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ที่ถูกหยิบยกมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานแรกในพื้นที่ EEC เพราะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย อีกทั้งจะเป็นจุดเริ่มต้นและจุดเปลี่ยนสำคัญของประเทศ ให้คนไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยีระบบรางความเร็วสูง สามารถลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้กับภาคธุรกิจ กระตุ้นการลงทุนจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยจุดเด่นของรถไฟความเร็วสูง คือตรงเวลา ปลอดภัย สิ้นเปลืองพลังงานน้อยเมื่อเทียบกับขนส่งประเภทอื่นๆ กระจายความแออัดของเมืองไปสู่เมืองรอง โดยข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สศช. เปิดเผย สัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP ) ในปี 2561 ต้นทุนโลจิสติกส์ไทยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 2,190.2 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 ต่อ GDP ส่วนในปี 2562 มีมูลค่า 2,258.4 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 13.4 /GDP โดยสัดส่วนการขนส่งที่ประเทศไทยเลือกใช้มากที่สุดคือ ระบบขนส่งทางถนน ร้อยละ 78.3 ส่วนระบบรางอยู่ที่ร้อยละ 1.7
ขณะที่แนวโน้มต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ในปี 2563 คาดว่าจะปรับลดลงอยู่ที่ระหว่างร้อยละ 12.9-13.4 จาก สถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศที่หดตัว ซึ่งแน่นอนว่าหนีไม่พ้นผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในหลายประเทศทั่วโลกไม่เพียงแต่ในประเทศไทย