TNN เด็กไทยป่วย"ซึมเศร้า" พุ่งสูงถึง 2,200 คน ต่อประชากรแสนคน

TNN

Health

เด็กไทยป่วย"ซึมเศร้า" พุ่งสูงถึง 2,200 คน ต่อประชากรแสนคน

เด็กไทยป่วยซึมเศร้า พุ่งสูงถึง 2,200 คน ต่อประชากรแสนคน

ผลสำรวจเผย เด็กไทยป่วย"ซึมเศร้า" พุ่งสูงถึง 2,200 คน ต่อประชากรแสนคน เสี่ยงทำร้ายตัวเอง 17.4% ซ้ำยังเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจิต

น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. ได้กล่าวในงาน“ดูแลวัยเด็กด้วยศิลปะด้านใน เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568”  ระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทยยังคงเป็นปัญหาใหญ่และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากรายงานการสังเคราะห์ชุดนโยบายสุขภาพจิตของประชากรชาวไทยภายใต้บริบทหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2567 โดย สสส. และศูนย์ความรู้นโยบายสาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลง พบว่า อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จ มีการเพิ่มขึ้นจาก 6.11 คนต่อประชากรแสนคนในปี 2560 เป็น 7.94 ในปี 2566 โดยกลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี พยายามฆ่าตัวตายมากที่สุด คิดเป็นอัตรา 116.8 คนต่อประชากรแสนคน สอดคล้องกับข้อมูลศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์เพื่อการแพทย์ด้านจิตเวชที่ประเมินว่า มีเยาวชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ตรวจพบอาการซึมเศร้าสูงถึง 2,200 คนต่อประชากรแสนคน


นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กและเยาวชนเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้ยาก เพราะจำเป็นต้องใช้จิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งประเทศมีเพียง 295 คน และกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ไปแล้ว 1 ใน 3 ของจำนวนจิตแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางทั้งหมด


ด้าน นายอนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี หัวหน้าโครงการโมเดลวิทยากรต้นแบบศิลปะด้านในเชิงลึกเพื่อขยายชุมชนการเรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะเด็กก่อนวัยรุ่น กล่าวว่า เด็กและเยาวชนไทยปัจจุบันถูกคาดหวังให้สมบูรณ์แบบ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้ความสนใจเฉพาะเรื่องวิชาการ ขาดทักษะการเลี้ยงลูกและระบบการศึกษาไม่รักษาความเป็นธรรมชาติของวัยเด็ก ส่งผลให้เด็กขาดอิสระ เกิดความเครียดสะสม กระทบโดยตรงต่อสุขภาพจิต จากรายงานผลสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 18 ปี 503,884 ราย


โดยกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ระหว่างเดือน ก.พ. 2565-ต.ค. 2567 พบเด็กเสี่ยงทำร้ายตนเอง 17.4% เสี่ยงป่วยซึมเศร้า 10.28%  การจัดกิจกรรม ดูแลวัยเด็กด้วยศิลปะด้านใน ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. จัดขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการสร้างการเรียนรู้สําหรับเด็กไทยอย่างเป็นองค์รวม สอดคล้องกับแนวคิดการสร้างสุขภาวะองค์รวม โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ไม่เพียงแค่ส่งเสริมสุขภาพร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องจิตใจและจิตวิญญาณด้วย


ขอบคุณข้อมูลจาก: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ข่าวแนะนำ