เปิดวิธีประเมินจิตใจผ่านเว็บไซต์ พร้อม 4 แนวทางเลี่ยง “ซึมเศร้าหลังปีใหม่ ”
เปิดวิธีประเมินจิตใจผ่านเว็บไซต์พร้อมแนะ 4 แนวทางหลีกเลี่ยงเผชิญอาการ “ซึมเศร้าหลังปีใหม่ ” แม้ไม่ใช่โรคจิตเวช แต่กระทบการใช้ชีวิต
กรมสุขภาพจิต กระทรวงกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่าประชาชนหลายคนได้พบหลากหลายเหตุการณ์ ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้สร้างผลกระทบต่อการเกิดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เผชิญกับภาวะ Post-Vacation Depression หรือที่เรียกว่าภาวะซึมเศร้าหลังวันหยุดยาว หรือ “ซึมเศร้าหลังปีใหม่ (New Year Blues)”
ซึมเศร้าหลังปีใหม่ แม้ไม่ใช่โรคทางจิตเวช แต่เป็นสภาวะทางอารมณ์ที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งสภาวะดังกล่าวมักจะมีอาการคงอยู่ 2 – 3 วัน แต่ในบางรายอาจยาวนานถึง 2 – 3 สัปดาห์ จนกระทบต่อการใช้ชีวิตโดยอาการสำคัญที่พบ ได้แก่ ภาวะซึมเศร้า ความเหนื่อยล้า ขาดแรงจูงใจ และความรู้สึกหมดพลัง หากมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้น สามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงเบื้องต้นได้ด้วยแนวทางการดูแลตนเอง 4 ข้อ ดังนี้
1. เปิดใจพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับคนใกล้ชิด
2. เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น การออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกลุ่ม
3. กำหนดเป้าหมายชีวิตที่เป็นรูปธรรมและท้าทายอย่างเหมาะสม
4. ขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเมื่อพบว่าอาการรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและฟื้นฟูสุขภาพจิต ตลอดจนเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภาวะทางอารมณ์เบื้องต้น สามารถประเมินสภาวะทางจิตใจด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ “www.วัดใจ.com” ซึ่งจะประเมินสภาวะทางสุขภาพจิตครอบคลุมทั้งด้านภาวะซึมเศร้า ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย และภาวะหมดไฟในการทำงาน หากพบว่ามีความเสี่ยงต่อภาวะทางด้านสุขภาพจิตจากการประเมิน จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อให้คำปรึกษาต่อไป
สรุปแล้ว การดูแลสุขภาพจิตถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันการเปลี่ยนทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จึงต้องมีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตให้เข้าถึงง่ายครอบคลุม และสอดคล้องกับความต้องการ สำหรับประชาชนที่มีอาการดังข้างต้น ควรขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต หรือโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือประเมินสภาวะทางจิตใจและรับคำแนะนำในการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมผ่านทางเว็บไซต์ www.วัดใจ.com
ภาพจาก: Getty Images
ข่าวแนะนำ