TNN Conversion Disorder ที่มาของอาการป่วยของ "จ้าวลู่ซือ"

TNN

Health

Conversion Disorder ที่มาของอาการป่วยของ "จ้าวลู่ซือ"

Conversion Disorder ที่มาของอาการป่วยของ จ้าวลู่ซือ

รู้จัก "Conversion disorder" ที่มาอาการป่วยของ "จ้าวลู่ซือ" แฟนคลับทั่วโลกแห่ให้กำลังใจ


แฟนคลับทั่วโลกร่วมส่งกำลังใจให้จ้าวลู่ซือ หายจากอาการป่วยเร็ววัน หลังเธอออกมายอมรับว่าตัวเองป่วยเป็นโรค "Conversion disorder" คือ ภาวะที่ปัญหาสุขภาพจิตมาขัดขวางการทำงานของสมอง ตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งเป็นผลจากความเครียดและความกดดันจากต้นสังกัด


โดยในโพสต์ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกหลังจากเธอป่วย ออกมาเปิดเผยเหตุการณ์เกิดขึ้นทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การโดนต้นสังกัดทำร้ายทางร่างกาย และด่าทอเพราะเธอออดิชั่นบทนำไม่ผ่าน โดยเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2019 เรื่อยมา ส่งผลให้เธอเป็นโรคซึมเศร้า และต้องเข้ารับการรักษาโดยจิตแพทย์


หลังจากนั้นเธอก็มีอาการป่วยอีกหลายโรค ไม่ว่าจะเป็นโรคถึงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ ผิวหนังอักเสบ ลมพิษและเหงื่ออกตอนกลางคืน


สารพัดโรคที่รุมเร้าเธอต้องรับยาแก้แพ้และยารักษาภาวะซึมเศร้า จนอาการเริ่มหนักช่วงปลายปี 2567 อาการแย่ลงถึงขั้นไม่สามารถเคลื่อนที่หรือสื่อสารด้วยตัวเอง


ท้ายที่สุดในโพสต์ดังกล่าว จ้าวลู่ซือเปิดเผยว่าเธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น "Conversion disorder" ซึ่งเป็นภาวะที่ปัญหาสุขภาพจิตขัดขวางการทำงานของสมอง ส่งผลให้เกิดอาการทางกายที่ไม่สามารถควบคุมได้ ผลการวินิจฉัยจากแพทย์ ชี้ว่า เธอต้องเข้ารับการบำบัดภาวะวิตกกังวล 10 ครั้ง ปรึกษาทางจิตวิทยา 10 ครั้ง พร้อมระบุว่าเธอมีภาวะทุพโภชนาการ มีน้ำหนักเหลือแค่ 36.9 กิโลกรัมแพทย์แนะนำให้รับประทานอาหารเป็นประจำและควบคุมอารมณ์


Conversion Disorder ที่มาของอาการป่วยของ จ้าวลู่ซือ ใบวินิจฉัยอาการของจ้าวลู่ซือ



อาการล่าสุดของจ้าวลู่ซือ กำลังอยู่ระหว่างการพักฟื้นกับครอบครัวและเพื่อนสนิทของเธอ ที่มีการอัพเดตภาพและอาการให้แฟนๆ ได้ทราบเป็นระยะ โดยเธอสามารถใช้มือจับช้อนทานอาหารเองได้ และกำลังฝึกเดิน


Conversion Disorder คือโรคอะไร? 


เป็นโรคที่มีความสูญเสียการทำงานของร่างกายในส่วนที่อยู่ใต้การควบคุมของจิตใจ หรือหน้าที่ต่อร่างกาย ที่เกี่ยวข้องกับการรับความรู้สึก ซึ่งเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากปัจจัยทางด้านจิตใจ 


อาการที่เกิดขึ้นเริ่มแรกทำให้สงสัยว่าเป็นโรคทางกาย แต่จากการตรวจร่างกายและส่งตรวจพิเศษแล้ว พบว่า ไม่สามารถอธิบายอาการที่เกิดขึ้นได้ตามหลักการของแพทย์ 


โดยจากสถิติของผู้ป่วยในโรงพยาบาลจิตเวช พบว่ามีความชุกอยู่ที่ 5-16% พบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย พบได้ทุกช่วงวัย แต่ที่พบบ่อยคือช่วงวัยรุ่น และผู้ใหญ่ตอนต้น


ตามทฤษฎีทางจิตวิเคราะห์เชื่อว่า ผู้ป่วยมีพัฒนาการของโรคจากจิตใจทีทำให้ตอบสนองต่อความกดดัน ทำให้ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลสูง จิตใจเสียสภาะสมดุล กลไกทางจิตเปลี่ยนความขัดแย้งมาเป็นอาการที่แสดงออกทางร่างกาย


อาการของโรคที่พบบ่อย เช่น อาการชัก อาการด้านประสาทวิทยา ที่ทำให้สูญเสียการควบคุมอวัยวะ ประสาทสัมผัสไม่สามารถรับรู้ได้อย่างปกติ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง มักเป็นที่ขาส่วนต้นมากกว่าส่วนปลาย เป็นต้น


ขณะที่การรักษาแพทย์จะเน้นให้ผู้ป่วยหายจากอาการ ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนให้กำลังใจ การบอกผู้ป่วยตรงๆ ว่าตรวจแล้วไม่พบอะไรผิดปกติ อาจทำให้กำลังใจของผู้ป่วยแย่ลง จะเป็นการดีกว่า หากจะหันไปพูดคุยกับผู้ป่วยเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ทำให้รู้ปัญหาที่ส่อถึงอาการ และช่วยแก้ไข นอกจากนี้ การให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงที่มาของอาการ ตระหนักถึงความสำคัญของเหตุการณ์ที่มากระตุ้นให้เกิดโรค จะช่วยหาทางแก้ไขจุดขัดแย้งในใจ และบำบัดต่อไปได้

ข่าวแนะนำ