TNN รู้จัก “ไขสันหลังอักเสบ” มัจจุราชร้ายพรากชีวิต

TNN

Health

รู้จัก “ไขสันหลังอักเสบ” มัจจุราชร้ายพรากชีวิต

รู้จัก “ไขสันหลังอักเสบ” มัจจุราชร้ายพรากชีวิต

ทำความรู้จัก "ไขสันหลังอักเสบ" โรคอันตราย มัจจุราชร้ายพรากชีวิต "ผิง ชญาดา"

อาการปวดหลังหรือรู้สึกชาที่ปลายนิ้ว อาจดูเหมือนเรื่องเล็กน้อยในตอนแรก แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นสัญญาณเตือนของ "โรคไขสันหลังอักเสบ" ซึ่งเป็นโรคร้ายที่ส่งผลต่อการทำงานของไขสันหลัง หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาการอาจลุกลามจนรุนแรงถึงขั้นเป็นอัมพาตหรืออาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้


นายแพทย์กิติเดช บุญชัย ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า โรคไขสันหลังอักเสบ (Transverse Myelitis) เป็นภาวะที่เกิดจากการอักเสบของไขสันหลังซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งสัญญาณประสาทระหว่างสมองและร่างกาย การอักเสบนี้อาจส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ทำให้ผู้ป่วยเริ่มมีอาการชาและอ่อนแรงที่ปลายเท้าทั้ง2ข้าง 


ซึ่งจะค่อยๆลุกลามไปที่ขาทั้ง2 ข้าง ในบางรายอาจมีอาการปวดหลังแบบฉับพลันนำมาก่อน หลังจากนั้นขาจะอ่อนแรงลงเรื่อยๆจนกระทั้งเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ขับถ่ายไม่ได้ โดยอาการเหล่านี้มักจะเป็นรุนแรงมากขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงถึงหลายวัน ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการไข้ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ ปวดคอ ร่วมด้วย


สาเหตุของการเกิด โรคไขสันหลังอักเสบสามารถเกิดได้กับทุกเพศ ทุกวัย โดยไม่ค่อยสัมพันธ์กับทางพันธุกรรมหรือครอบครัว โดยเกิดได้จากหลายสาเหตุ


  • ภาวะโรคทางภูมิคุ้มกัน เช่น โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) หรือ โรคเอสแอลอี (SLE) หรือ ในคนไข้ ที่มีประวัติได้รับวัคซีนมาก่อน


  • การติดเชื้อไวรัส เช่น HIV, herpes vitus, herpes simple, EBV หรือ poliovirus เป็นต้น


  • การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น ซิฟิลิส (Syphilis)


  • ติดเชื้อพวกปรสิต หรือ เชื้อรา


การวินิจฉัยโรคไขสันหลังอักเสบ แพทย์มักเริ่มด้วยการสอบถามอาการ ประวัติสุขภาพร่วมกับประเมินการทำงานของระบบประสาทจากวิธีการตรวจต่าง ๆ เช่น การทำเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) จะช่วยให้แพทย์มองเห็นการอักเสบบริเวณไขสันหลัง ปลอกหุ้มใยประสาทที่เสียหาย และความผิดปกติอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อไขสันหลังหรือหลอดเลือด, การเจาะน้ำไขสันหลัง (Lumbar Puncture) เพื่อตรวจหาการติดเชื้อ หรือช่วยประเมิน โปรตีนและเซลล์เม็ดเลือดขาวที่อาจจะพบได้มากกว่าคนปกติและการตรวจเลือดของผู้ป่วยเพื่อหาเชื้อโรคต้นเหตุของไขสันหลังอักเสบ


การรักษาโรคไขสันหลังอักเสบขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ เช่น เกิดจากการติดเชื้อต้องให้ยาต้านไวรัส แต่หากเกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติในระยะเฉียบพลัน จำเป็นต้องได้รับยาสเตียรอยด์ขนาดสูงทางหลอดเลือดดำ แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายพลาสมา สำหรับการรักษาในระยะยาวขึ้นอยู่กับผลของการตรวจเลือด ถ้าพบว่ามีการกำเริบของโรคจะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลาอย่างน้อย 3-5 ปี


อย่างไรก็ตาม โรคไขสันหลังอักเสบยังไม่มีวิธีการป้องกันโรค แต่การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้

 

บทความโดย นายแพทย์กิติเดช บุญชัย

ศัลยแพทย์กระดูกและข้อเฉพาะทางด้านโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเวชธานี

ภาพปก: Envato

ข่าวแนะนำ