TNN นักวิจัย ชี้ปลดล็อก "กลไกงบประมาณ" ปลดปล่อยศักยภาพชุมชนรับมือวิกฤตสุขภาพ

TNN

Health

นักวิจัย ชี้ปลดล็อก "กลไกงบประมาณ" ปลดปล่อยศักยภาพชุมชนรับมือวิกฤตสุขภาพ

นักวิจัย ชี้ปลดล็อก  กลไกงบประมาณ ปลดปล่อยศักยภาพชุมชนรับมือวิกฤตสุขภาพ

งานวิจัยใหม่ ชี้ทางออกปลดล็อกกลไกงบประมาณ ปลดปล่อยศักยภาพชุมชนรับมือวิกฤตสุขภาพที่ไม่คาดฝัน ใช้ทุนทางสังคมร่วมพัฒนาชุมชน ป้องกันโรคและเสริมสร้างสุขภาพอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2567  ผศ.ดร.พรฤดี นิธิรัตน์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี หนึ่งในทีมวิจัยโครงการ “ยกระดับศักยภาพการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพด้วยนวัตกรรมการจัดการระบบสุขภาพปฐมภูมิ โดยชุมชน: กรณีศึกษาชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด” ที่ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวถึงทุนทางสังคมว่า เกี่ยวข้องโดยตรงกับการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของสมาชิกในชุมชน และเป็นทุนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น ความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจที่มีให้ต่อกันในชุมชน ความรู้สึกว่าเราสามารถพึ่งพาอาศัยกันได้ ความรู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้ชุมชนดีขึ้น สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติให้คนในชุมชนเข้ามาทำอะไรร่วมกัน  ซึ่งหลายชุมชนทำงานอย่างเป็นระบบ ภายใต้ความยืดหยุ่นและคล่องตัว มีการประสานการทำงานทั้งภายในและภายนอกชุมชน จนเกิดเป็น ‘มาตรการชุมชน’ และ ‘นวัตกรรมทางสังคม’ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทตัวเอง อาทิ ศูนย์แยกกักหรือศูนย์พักคอยในชุมชน ระบบการจัดการอาหารสนับสนุนการแยกกักหรือกักตัวในชุมชน ระบบอาสาสมัครช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ระบบการประสานดูแลและส่งต่อผู้ป่วย ฯลฯ เหล่านี้มีส่วนสำคัญในการหนุนเสริมมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของส่วนกลางหรือภาครัฐ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกเหนือจากทุนทางสังคมและการประสานเครือข่าย ที่นำไปสู่มาตรการชุมชนและนวัตกรรมทางสังคมแล้ว ‘กลไกทางการเงิน’ คืออีกปัจจัยในสมการความสำเร็จ ที่มาช่วยหมุนฟันเฟืองชุมชนให้เคลื่อนไปข้างหน้า 

 

ด้าน ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนการวิจัยฯ บอกว่า จากผลการวิจัยที่ได้ลงไปศึกษาพื้นที่ 17 ชุมชน ทั้งใน กทม. และในจังหวัดอื่นๆ ที่เคยมีนวัตกรรมสังคมในจัดการสถานการณ์โควิด-19 พบว่า แม้ชุมชนทั้งหมดต่างมีทุนทางสังคมที่สำคัญที่จะต่อยอดได้ไปสู่ความยั่งยืนและมั่นคงได้ แต่ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของความสำเร็จชุมชนนั้น นอกจาก ‘โหนดพี่เลี้ยง’ หรือภาคประชาสังคมที่เข้ามาดูแลชุมชนและทำงานร่วมกันแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ก็มีส่วนสำคัญ โดยสามารถสนับสนุนผ่านเครื่องมือที่ชื่อว่า ‘กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่’ หรือที่คุ้นกันในชื่อ กปท. หรือ กองทุนสุขภาพตำบล  พร้อมยกตัวอย่างจากผลการวิจัย พบว่า 8 ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ กทม. ต่างได้รับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร (กปท.) ของ กทม. เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค รับมือกับภัยสุขภาพในช่วงวิกฤตการณ์ ซึ่งอดีตเงินก้อนนี้เคยค้างท่ออยู่เฉยๆ เกือบ 2,000 ล้านบาท โดยที่ชุมชนไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากมีข้อติดขัดในเรื่องระเบียบและเงื่อนไข จนกระทั่ง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เข้ามาปลดล็อกอุปสรรค เงินจึงไหลออกมาสู่ชุมชนและเกิดประโยชน์กับประชาชนได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

 

“สะท้อนว่านโยบายของผู้นำท้องถิ่นสำคัญอย่างมาก ซึ่งจากงานวิจัยที่ สวรส. ได้สนับสนุนพบว่า งบประมาณเป็นส่วนสำคัญที่ชุมชนอยากนำออกไปใช้เพื่อทำงาน โดยเฉพาะกับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐจะต้องช่วยกันปลดล็อกข้อจำกัดนี้ให้ชุมชน ซึ่งหากมีการปลดล็อกระเบียบและเงื่อนไขดังกล่าว ก็จะทำให้ชุมชนสามารถเข้าถึงเงินทุนในการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านสุขภาพได้ ขณะเดียวกันทางชุมชนก็ต้องยอมให้ถูกตรวจสอบการใช้งบประมาณตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสด้วย” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าวและว่า  ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น , กทม. รวมไปกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ควรต้องแก้ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง ที่เกี่ยวกับกองทุนสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค เพื่อให้ชุมชนเข้าถึงได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพชุมชนที่จะนำไปสู่การมีระบบสุขภาพของชุมชนบนหลักฐานเชิงประจักษ์และหลักฐานทางข้อมูล และการเกิดขึ้นของนวัตกรรมทางสังคมที่จะเข้ามายกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล 

 

ขณะที่ นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ชี้ว่า ผลการวิจัย 17 ชุมชน สะท้อนออกมาค่อนข้างชัดเจนว่า ปัญหาวิกฤตสุขภาพที่ชุมชนจะเผชิญในอนาคตนั้น หากมีการจัดการร่วมกันใช้ทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง และประสานการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานนอกพื้นที่ที่ทำงานด้านสุขภาพ-สุขภาวะ ก็จะสามารถก้าวผ่านทุกปัญหาไปได้ ส่วนแนวทางการดูแลสุขภาพของประชาชนที่ดีคือการใช้หลักการ ‘สร้างนำซ่อม’ หมายถึงการให้น้ำหนักความสำคัญที่การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นหลัก เพื่อปกป้องไม่ให้คนเจ็บป่วยถึงขั้นล้มหมอนนอนเสื่อจนต้องเข้ารับการรักษา หรือ ‘ซ่อม’   การสร้างเสริมสุขภาพที่ดีอย่างต่อเนื่องจากนวัตกรรมที่มีในชุมชน จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยได้จริง อย่างไรก็ดี งบประมาณอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สิ่งที่จะช่วยปลดล็อกให้ชุมชนเข้มแข็งขึ้น คือการหนุนเสริมให้เกิดรูปแบบความร่วมมือของคนในชุมชนอย่างมีศักยภาพ    

ข่าวแนะนำ