TNN ศูนย์จีโนมฯ เผยปัจจัยเร่ง “ฝีดาษลิง”กลายพันธุ์ เสี่ยงระบาดระดับโลกในอนาคต

TNN

Health

ศูนย์จีโนมฯ เผยปัจจัยเร่ง “ฝีดาษลิง”กลายพันธุ์ เสี่ยงระบาดระดับโลกในอนาคต

ศูนย์จีโนมฯ เผยปัจจัยเร่ง “ฝีดาษลิง”กลายพันธุ์  เสี่ยงระบาดระดับโลกในอนาคต

ศูนย์จีโนมฯ เผยปัจจัยสำคัญ ที่อาจเป็นตัวเร่งให้ “โรคฝีดาษลิง” กลายพันธุ์ เตือนสุ่มเสี่ยงลุกลามเป็นการระบาดระดับโลก

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า เอนไซม์ "เอโพเบค-สาม (APOBEC3)" ในร่างกายมนุษย์ มีบทบาทสำคัญในการเร่งการกลายพันธุ์ของไวรัสฝีดาษลิงในระดับจีโนม ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดทั่วโลกในปี 2565 นอกจากนี้ ยังอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การระบาดครั้งใหม่ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกในปีนี้ 2567 ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะลุกลามเป็นการระบาดระดับโลกในอนาคตอันใกล้


การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในปี 2565 ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ มีความเชื่อมโยงกับการปรับตัวทางพันธุกรรมอันเนื่องมาจากเอนไซม์ APOBEC3 เอนไซม์นี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติในร่างกายมนุษย์ ซึ่งมีบทบาทในการสร้างการกลายพันธุ์ในจีโนมของไวรัส นำไปสู่การวิวัฒนาการและการปรับตัวของเชื้อ ในการระบาดครั้งนั้น ไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade IIb เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะผ่านการมีเพศสัมพันธ์


การศึกษาพบว่า ไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade IIb มีการกลายพันธุ์จำนวนมากที่เกิดจากเอนไซม์ APOBEC3 ซึ่งเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมจาก C เป็น T และ G เป็น A บนจีโนมของไวรัส แม้ว่าปฏิกิริยานี้มีจุดประสงค์เพื่อทำลายไวรัส แต่กลับพบว่าการกลายพันธุ์ดังกล่าวช่วยให้ไวรัสปรับตัวและเพิ่มจำนวนในร่างกายมนุษย์ได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีความสามารถในการแพร่เชื้อสูงขึ้น


การกลายพันธุ์จาก APOBEC3 อาจทำให้ความรุนแรงของไวรัสลดลง นำไปสู่การติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ซึ่งอาจเพิ่มโอกาสการแพร่เชื้อแบบไม่รู้ตัวและยากต่อการควบคุม นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ว่าสายพันธุ์อื่นๆ ของไวรัสฝีดาษลิงอาจเกิดการวิวัฒนาการในลักษณะคล้ายคลึงกัน


ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade Ib ซึ่งพัฒนามาจาก Clade I มีบทบาทสำคัญในการระบาดครั้งใหญ่ DRC เป็นแหล่งกำเนิดการระบาดของฝีดาษลิง Clade I มาอย่างยาวนาน โดยมีการระบาดครั้งสำคัญในปี 2556 ที่จังหวัด Bokungu ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 600 เท่า 


ล่าสุดในปี 2567 พบไวรัสฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade Ib ในจังหวัด South Kivu โดยการวิเคราะห์จีโนมพบความแตกต่างจาก Clade I และมีการกลายพันธุ์จาก APOBEC3 เป็นส่วนใหญ่ สิ่งนี้บ่งชี้ว่า Clade Ib อาจเกิดการกลายพันธุ์คล้ายกับ Clade IIb ซึ่งอาจนำไปสู่การระบาดที่แพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น ทั้งจากการมีเพศสัมพันธ์และการสัมผัสสารคัดหลั่ง


การระบาดของ Clade Ib ใน DRC เน้นย้ำถึงความจำเป็นในทุกประเทศต้องร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสฝีดาษลิง ทั้งจีโนมที่แยกได้จากผู้ป่วยในประเทศและแชร์ข้อมูลไปยังฐานข้อมูลไวรัสฝีดาษลิงโลก จีเสส (GISAID) เพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มงวด การวิวัฒนาการที่เกิดจาก APOBEC3 ในไวรัสฝีดาษลิง Clade Ib อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อที่รวดเร็วและปรับตัวเข้ากับมนุษย์ได้ดีขึ้น คล้ายกับที่เกิดขึ้นในการระบาดทั่วโลกปี 2565 จาก Clade IIb สถานการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิวัฒนาการของไวรัสฝีดาษลิงอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนากลยุทธ์ด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ


การศึกษาในคองโกยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของอัตราการกลายพันธุ์ในแต่ละสายพันธุ์ของไวรัสฝีดาษลิง โดยพบว่า


- สายพันธุ์ Ia มีการกลายพันธุ์จาก APOBEC3 เพียง 10.7% บ่งชี้ว่าส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสัตว์สู่คน

- สายพันธุ์ Ib มีการกลายพันธุ์ 20.7% แสดงถึงการแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนที่เพิ่มขึ้น

- สายพันธุ์ IIb มีการกลายพันธุ์สูงถึง 35.9% สอดคล้องกับการระบาดทั่วโลกในปี 2565 ที่แพร่เชื้อระหว่างคนเป็นหลัก


ความแตกต่างนี้สะท้อนถึงรูปแบบการแพร่เชื้อที่แตกต่างกัน โดยสายพันธุ์ Ib และ IIb มีแนวโน้มแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ Ia อย่างชัดเจน


ภาพจาก: AFP 

ข่าวแนะนำ