ไข้หวัดใหญ่ ระบาด! หมอมนูญ ยกเคสผู้ป่วย 67 ปี ติดเชื้อสายพันธุ์ A ทำปอดอักเสบ
หมอยง เตือน "ไข้หวัดใหญ่" ระบาดหนัก! ยกเคสผู้ป่วยชายอายุ 67 ปี ติดเชื้อสายพันธุ์ A ทำให้ปอดอักเสบ และหน้ามืดเป็นลมจากหัวใจเต้นพลิ้ว AF
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
โดยระบุว่า ผู้ป่วยชายอายุ 67 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เมื่อ 2 เดือนก่อน 1 สัปดาห์ก่อนเริ่มไอ มีไข้ต่ำๆ ปวดหัว อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขณะที่นั่งทานอาหาร หน้ามืด เป็นลมหมดสติ 2 นาทีที่บ้าน ไปห้องฉุกเฉิน เอกซเรย์ปอดพบฝ้าขาวที่ปอดด้านบนข้างขวาเล็กน้อย เจาะเลือดเม็ดเลือดขาวต่ำ 2,200 ทำคลื่นหัวใจพบหัวใจเต้นพลิ้ว Atrial Fibrillation (AF) ผู้ป่วยปฏิเสธการนอนในโรงพยาบาล กลับไปกินฟ้าทะลายโจร
มาตรวจอีกครั้งวันที่ 12 สิงหาคม 2567 อุณหภูมิ 37.3 องศาเซลเซียส หัวใจยังเต้นผิดปกติ 110 ครั้ง/นาที ระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้ว 95% ฟังปอดปกติ ทำเอกซเรย์ปอดฝ้าขาวด้านขวาบนหายไปเอง เจาะเลือดเม็ดเลือดขาวขึ้น 10,810 ตรวจคลื่นหัวใจ หัวใจยังเต้นพลิ้ว AF ทำคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ Echocardiogram หัวใจทำงานปกติ แยงจมูกตรวจรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัส พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A
วินิจฉัย: ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ทำให้ปอดอักเสบ และหน้ามืดเป็นลมจากหัวใจเต้นพลิ้ว AF
ให้ยาต้านไวรัส Xofluza ( Baloxavir) 20 มก.กินเพียง 2 เม็ดทันที และให้ยา amiodarone รักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจกลับมาเต้นปกติ คนไข้ดีขึ้น นอนในรพ. 1 คืน กลับบ้านได้ ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาไข้หวัดใหญ่ค่อนข้างช้า 1 สัปดาห์หลังเริ่มป่วย
ไวรัสไข้หวัดใหญ่กระตุ้นให้เกิดการอักเสบในร่างกาย ก่อให้เกิดอันตรายต่อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หน้ามืด เป็นลมหมดสติได้อย่างผู้ป่วยรายนี้
ช่วงนี้มีการระบาดหนักของไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ทุกคนรีบไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพื่อลดความรุนแรงของโรค ไม่ได้ฉีดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ถ้าติดเชื้อต้องรีบวินิจฉัย และเริ่มยาต้านไวรัสให้เร็วภายใน 1-2 วันหลังป่วย
โรคไข้หวัดใหญ่ คืออะไร?
โรคไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งก่อให้เกิดอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก คัดจมูก รู้สึกอ่อนเพลีย ครั่นเนื้อครั่นตัว หรือปวดเมื่อยตามร่างกาย แต่ละปีจะมีประชาชนทั่วโลกติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งบุคคลทุกเพศ ทุกวัย สามารถป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ได้ โดยพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มากที่สุดในฤดูฝน รองลงมามาคือในฤดูหนาว
โรคไข้หวัดใหญ่มาจากไหน?
ผู้ป่วยไอหรือจาม ละอองฝอยขนาดเล็กของน้ำลายหรือน้ำมูกจะล่องลอยในอากาศ และปลิวเข้าสู่ปากหรือจมูกของผู้ที่อยู่ใกล้ หากสูดหายใจเข้าไป ทำให้ละอองฝอยเล็กๆ เหล่านี้ลงสู่ปอดได้
มือสัมผัสถูกน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ป่วย เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะ เสื้อผ้า เมื่อไม่ได้ล้างมือให้สะอาดแล้วใช้มือจับจมูกและปากของตนเอง ทำให้สามารถติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่
-มีไข้
-ไอ เจ็บคอ
-คัดจมูก มีน้ำมูก
-ครั่นเนื้อครั่นตัว
-อ่อนเพลีย หรือเหนื่อยมากขึ้น
-ปวดศีรษะ
-หนาวสั่น
-ปวดเมื่อยตามร่างกาย
การป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
1. ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี
2. หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่
3. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หากไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์เจล (Alcohol Gel) สำหรับล้างมือแทน
4. หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณดวงตา จมูก หรือปาก เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สามารถติดต่อได้ตามช่องทางเหล่านี้
5. ควรใส่หน้ากากอนามัย
การดูแลตนเองและคนใกล้ชิดเมื่อเป็นโรคไข้หวัดใหญ่
1. เมื่อเริ่มรู้สึกป่วย ให้หยุดอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น
2. ปิดจมูกและปากด้วยผ้าหรือกระดาษทิชชูเวลาไอหรือจาม
3. ทิ้งกระดาษทิชชูที่ใช้แล้วลงถังขยะติดเชื้อ
4. ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ หากไม่มีให้ใช้แอลกอฮอล์เจล (Alcohol Gel) สำหรับล้างมือแทน
5. เข้ารับการรักษาและรับประทานยาตามคำสั่งแพทย์
6. สามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้ตามปกติหลังจากหายไข้แล้วอย่างน้อย 1 วัน
ที่มา หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC / รพ.ศิริราชฯ
ข่าวแนะนำ