ไทยเฝ้าระวัง “ฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่” อาจอันตรายรุนแรงกว่าเดิม
สาธารณสุขเฝ้าระวังสถานการณ์ “โรคฝีดาษลิง” สายพันธุ์ใหม่ หลังพบกันแพร่ระบาดในแอฟริกากลาง อันตรายรุนแรงกว่าเดิม
วันนี้ ( 7 ส.ค. 67 )นายแพทย์วิชาญ บุญกิติกร ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามสถานการณ์ “โรคฝีดาษลิงสายพันธุ์ใหม่” ที่อาจรุนแรงกว่าสายพันธุ์เดิมอย่างใกล้ชิด ทั้งจำนวนผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต และอาการหลังเกิดการระบาดในภูมิภาคแอฟริกากลาง ทำให้มีผู้ติดเชื้อกว่า 12,000 คน เสียชีวิตกว่า 500 คน ซึ่งจากการดูข้อมูลสถานการณ์ฝีดาษลิงทั่วโลก แนวโน้มโรคไม่ได้สูงขึ้นยังคงทรงตัว
ขณะที่ประเทศไทยโรคฝีดาษลิง เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ลำดับที่ 56 ตามพระราชบัญญัติ โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 หากมีการวินิจฉัย มีการตรวจยืนยัน จะต้องรายงานเข้ามายังกรมควบคุมโรคทุกราย ซึ่งทุกรายที่มีการรายงานเข้ามายังในระบบ จะต้องมีการตรวจยืนยันสายพันธุ์โรคฝีดาษลิง ซึ่งขณะนี้ยังไม่พบสายพันธุ์ใหม่ที่รุนแรงที่เชื่อมโยงกับสายพันธุ์ใหม่ทางแอฟริกากลาง
อย่างไรก็ตาม ได้มีการมาตรการเฝ้าระวังเพิ่มเติม โดยการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากประเทศแถบแอฟริกา หากพบรายใดมีอาการป่วย ที่มีอาการเข้าข่ายสงสัยโรคฝีดาษลิง จะต้องทำการตรวจโรคและสายพันธุ์เพื่อยืนยันป้องกันการเข้ามาแพร่ระบาด
สำหรับข้อมูลผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงสะสม ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวน 822 คน โดยตั้งแต่มกราคม 2567 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันมีการรายงานผู้ป่วยฝีดาษลิง สะสม 135 คน ซึ่งจำนวนผู้ป่วย ปี 2567 หากเทียบกับ ปี 2566 ไม่ต่างกันมาก และไม่มีข้อบ่งชี้จำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ถือว่า สถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ขณะนี้ทรงตัวมีแนวโน้มลดลง
ส่วนความรุนแรงของโรคฝีดาษลิงจัดให้อยู่ในกลุ่มโรคติดต่อเฝ้าระวัง ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย การติดต่อของโรคถือว่าไม่ง่าย หากไม่ได้มีสัมพันธ์แนบชิดใกล้ชิด การรักษาหรือนอนในโรงพยาบาลไม่มีความจำเป็นจะต้องแยกกักกันโรคเหมือนโรคอันตรายอื่นๆ แต่ต้องรายงานผู้ป่วยเข้าระบบ และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยต้องเฝ้าระวังตัวเอง
โรคฝีดาษลิง หรือเอ็มพอกซ์ เกิดจากไวรัสที่มีชื่อว่า ออร์โธพอกซ์ไวรัส (Orthopoxvirus) ซึ่งเป็นไวรัสในกลุ่มไวรัสไข้ทรพิษ (Smallpox) ที่มีอันตรายถึงชีวิต แม้ไวรัสจะแพร่ระบาดจากสัตว์ฟันแทะและติดต่อสู่คนเพิ่มมากขึ้นมานานหลายสิบปี แต่จำนวนผู้ป่วยในปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับที่มากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องมาจากไวรัสนั้นผ่านการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์กังวลว่าอาจทำให้ไวรัสชนิดนี้อันตรายยิ่งขึ้น
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ