“โรคพิษสุนัขบ้า” ไม่ใช่ฤดูร้อนก็ระบาดได้ เสียชีวิตแล้ว 1 เหตุถูกสุนัขตัวเองกัด
โรคพิษสุนัขบ้า” ไม่ใช่ฤดูร้อนก็ระบาดได้ สถานการณ์ในไทยพบมากสุดในสุนัข และ วัว ล่าสุดเสียชีวิตแล้ว 1 หลังถูกสุนัขที่เลี้ยงไว้กัด
วันนี้ ( 5 ก.ค. 67 )นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 3 กรกฎาคม 2567 พบรายงานผลบวกของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ จำนวน 263 ตัว โดยพบมากที่สุดในสุนัข รองลงมาคือ โค และ แมว โดยในปี 2567 นี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 1 ราย ที่ จ.ยโสธร ถูกสุนัขอายุ 3 เดือนที่ตนเองเลี้ยงไว้กัด และไม่ไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2566 - 3 กรกฎาคม 2567 พบรายงานผลบวกของโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ จำนวน 32 ราย แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ 1) จ.สุรินทร์ พบสัตว์ติดเชื้อ 18 ตัวอย่าง (สุนัข 9 ตัว / โค 8 ตัว /กระบือ 1 ตัว) มีผู้สัมผัสเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 156 ราย 2) จ.บุรีรัมย์ พบสัตว์ติดเชื้อ 11 ตัวอย่าง (สุนัข 10 ตัว/ กระบือ 1 ตัว) ผู้สัมผัสเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 70 ราย 3) จ.ชัยภูมิ พบสัตว์ติดเชื้อ 2 ตัวอย่าง (สุนัข 2 ตัว) ผู้สัมผัสเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 16 ราย 4) จ.นครราชสีมา พบสัตว์ติดเชื้อ 1 ตัวอย่าง (สุนัข 1 ตัว) ผู้สัมผัสเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจำนวน 13 ราย
นายแพทย์ทวีชัย ระบุอีกว่าโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น สุนัข แมว โค กระบือ หนู กระรอก กระต่าย ลิง ค้างคาว ในประเทศไทยมักพบใน สุนัข แมว โค และกระบือ ไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ติดเชื้อนี้แล้วต้องเสียชีวิตทุกราย โดยเชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือเลียบริเวณที่มีบาดแผล รอยขีดข่วน หรือเลียบริเวณเยื่อบุตา และปาก โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่สามารถพบได้ตลอดทั้งปี ไม่ได้เกิดเฉพาะช่วงหน้าร้อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ จากกรณีมีผู้นำเนื้อโค กระบือที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ามาชำแหละขายหรือปรุงเป็นอาหารนั้น ทำให้เสี่ยงติดเชื้อเมื่อสัมผัสเลือดและเนื้อสัตว์ได้
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ