TNN ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก เสี่ยงโรคเบาหวานมากกว่าเดิม

TNN

Health

ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก เสี่ยงโรคเบาหวานมากกว่าเดิม

ดื่มน้ำจากขวดพลาสติก เสี่ยงโรคเบาหวานมากกว่าเดิม

ผลวิจัยชี้สารเคมีในขวดเพิ่มความเสี่ยงการโรคเบาหวานชนิดที่ 2

งานวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุดเผยให้เห็นหลักฐานที่เชื่อมโยงโดยตรงระหว่าง "สารเคมีที่อยู่ขวดน้ำพลาสติก" ที่จะไปเพิ่มความเสี่ยง "โรคเบาหวานชนิดที่ 2" 


โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคเบาหวานที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากร่างกายมีภาวะดื้ออินซูลิน ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่มีภาวะโรคอ้วนและผู้สูงอายุ หรืออาจมีประวัติคนในครอบครัวเป็นเบาหวานร่วมด้วย 


ในผลวิจัยที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร "ไดอาเบตส์"  ชี้ว่า BPA ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งรวมถึงขวดน้ำพลาสติก จะเข้าไปลดความสามารถของอินซูลิน ที่ร่างกายจะใช้ในการเผาผลาญน้ำตาล เมื่อความสามารถเผาผลาญน้ำตาลลดลง ความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น


ซึ่งผลการวิจัยนี้จะนำเสนอสู่ที่ประชุมทางวิทยาศาสตร์ปี 2024 ของสมาคมโรคเบาหวานแห่งอเมริกา เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ EPA พิจารณาระดับความปลอดภัยสำหรับการสัมผัสสาร BPA ในขวดและภาชนะบรรจุอาหาร


ทั้งนี้ งานวิจัยก่อนหน้านี้ เคยศึกษาผลกระทบของสารเคมี Bisphenol A ที่ใช้ในการผลิตพลาสติกและสารให้ความมันวาว "อีพ็อกซี่เรซิ่น" และพบว่า มันเข้าไปรบกวนการทำงานของฮอร์โมน


ส่วนงานวิจัยที่เพิ่งถูกเผยแพร่นี้ นับเป็นครั้งแรกของการคันพบหลักฐานว่าสาร BPA เพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน


โดยในขั้นตอนการวิจัย ผู้เข้าร่วมสุขภาพดี 40 คนได้รับโจทย์ให้รับสาร BPA  ปริมาณ 50 ไมโครกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณที่ได้รับการรับรองว่าปลอดภัยในการบริโภคต่อหนึ่งวัน


ผลปรากฏว่า ผ่านไปเพียง 4 วัน ผู้ที่ได้รับ BPA มีการตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญ


เมื่อไม่นานมานี้ เพิ่งมีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่ม โดยเฉพาะผลกระทบต่อสุขภาพที่มาจากส่วนประกอบทางเคมีของขวดพลาสติก หนึ่งในนั้นชี้ว่า ขวดน้ำพลาสติกที่โดนแสงแดดสามารถปล่อยสารเคมีที่เป็นอันตรายได้


ที่มา: independent.co.uk

ข่าวแนะนำ