ฤดูฝน ต้องระวัง! "ไวรัสโควิด-ไข้หวัดใหญ่" ป่วยเพิ่ม คาดสูงสุดช่วงมิถุนายน - กรกฎาคม
ห่วงหลายโรคระบาดช่วงฤดูฝน “โควิด” คาดสูงสุดช่วงมิถุนายน - กรกฎาคม “ไข้หวัดใหญ่” ส่วนใหญ่ระบาดในเรือนจำ โรงเรียนและสถานปฏิบัติธรรม พร้อมไฟเขียว 3 กฎหมายลูก
วันนี้ (6 มิถุนายน 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2567 โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายสมศักดิ์กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมได้เห็นชอบร่างอนุบัญญัติ 3 ฉบับ ที่ออกตามความใน พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ได้แก่ 1.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ กรณีผู้เดินทางมากับพาหนะที่เข้ามาในราชอาณาจักรจากท้องที่หรือเมืองท่าที่เป็นเขตติดโรค พ.ศ. ... 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้เดินทาง กรณีผู้เดินทางซึ่งเป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาด หรือเป็นพาหะนำโรค พ.ศ. ...
และ 3.ร่างระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการแทนของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อละเลยไม่ดำเนินการตามคำสั่งภายในเวลาที่กำหนด พ.ศ. ... ซึ่งทั้งหมดเป็นการกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ควบคุมยานพาหนะ ผู้เดินทาง หรือผู้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามจริงในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ
นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้รับทราบสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ คือ
1.โรคระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคโควิด 19 ซึ่งมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มขึ้น คาดว่าสูงสุดในช่วงมิถุนายน – กรกฎาคม แต่อัตราการเสียชีวิตน้อยมาก เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันในระดับประชากรร่วมกับเชื้อเป็นสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรง และโรงพยาบาลมีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยได้ดี ส่วนโรคไข้หวัดใหญ่ พบมากในกลุ่มเด็กเล็ก 0 - 4 ปี และเด็กวัยเรียน 5 - 14 ปี ส่วนใหญ่ระบาดในเรือนจำ โรงเรียนและสถานปฏิบัติธรรม
2. โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ได้แก่ โรคหัดและโรคไอกรนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ระบาดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) ผู้ป่วยเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ขอให้ผู้ปกครองตรวจสอบประวัติวัคซีนเด็ก หากได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด ควรเข้ารับวัคซีนที่สถานพยาบาลใกล้บ้านและรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล
3. โรคติดต่อนำโดยแมลง ได้แก่ โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 29 พฤษภาคม 2567 พบผู้ป่วยสะสม 29,554 ราย เสียชีวิต 36 ราย
จำนวนผู้ป่วยสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียน 5 - 14 ปี ส่วนโรคไข้มาลาเรีย พบผู้ป่วยสะสม 4,498 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่แนวชายแดนไทย-เมียนมา มากสุดที่จังหวัดตากและแม่ฮ่องสอน จึงยกระดับมาตรการควบคุมโรคโดยเน้นการมีส่วนร่วมระหว่างบริการปฐมภูมิกับภาคีเครือข่าย โดยอาศัย “พลังชุมชน” และ 3 กิจกรรมสำคัญ คือ การกำจัดพาหะ, การวินิจฉัยและรักษาที่รวดเร็ว และการควบคุมโรคอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ดำเนินการในอำเภอที่มีอัตราป่วยไข้เลือดออกสูงต่อเนื่อง และ 10 จังหวัดที่มีโรคไข้มาลาเรียสูง
4.วัณโรค พบเสียชีวิต 13,700 ราย มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษา 72,274 ราย อัตราความสำเร็จการรักษาร้อยละ 85 ได้กำหนดมาตรการสำคัญ คือ
1) ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในประชากรกลุ่มเสี่ยงสูง
2) วินิจฉัยให้พบโดยเร็วด้วยวิธีมาตรฐาน
3) ติดตามผู้ป่วยวัณโรคจนการรักษาสำเร็จมากกว่าร้อยละ 90
4) ให้ยารักษาการติดเชื้อวัณโรค เพื่อยุติวัณโรคและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
นอกจากนี้ ยังรับทราบความก้าวหน้าการผลักดันการสร้างพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ภายใต้โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า ภายในปี 2568 ตามพระปณิธาน ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งกรมควบคุมโรค ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานผ่านกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ในปี 2567 ผลักดันให้มีการรับรองพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าระดับอำเภอ 163 อำเภอ ท้องถิ่น 1,136 แห่ง ใน 73 อำเภอ โดยจะมีแผนทำให้ปลอดโรคพิษสุนัขบ้าในจังหวัดท่องเที่ยวต่อไป
ข่าวแนะนำ