TNN "อะดีโนไวรัส" โรคม้ามืดน่ากังวลในเด็กเล็ก

TNN

Health

"อะดีโนไวรัส" โรคม้ามืดน่ากังวลในเด็กเล็ก

 อะดีโนไวรัส โรคม้ามืดน่ากังวลในเด็กเล็ก

ทำความรู้จัก "อะดีโนไวรัส" ไม่ใช่โรคที่มาใหม่ แต่เป็นม้ามืดที่จัดว่าน่ากังวลในเด็กเล็ก

อะดีโนไวรัส (Adenovirus) เป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กเล็ก อายุ 6 เดือน – 5 ปี แต่ในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน มักมีอาการของระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงได้มากกว่า รวมถึงเด็กที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ 


บทความให้ความรู้โดย พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช ได้อธิบายเกี่ยวกับลักษณะของอาการป่วย การตรวจวินิจฉัย และการดูแลรักษา เพื่อจะได้สังเกตลูกน้อยและนำไปสู่กระบวนการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุด


โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้มักสามารถอยู่ในอากาศ และพื้นผิวสิ่งแวดล้อมได้ค่อนข้างนานเป็นเดือน จึงพบเห็นระบาดได้เกือบทั้งปี สามารถถูกกำจัดผ่านพื้นผิวด้วยความร้อน และสารฟอกขาว 


ดังนั้นจำเป็นต้องเฝ้าระวังติดต่อสู่กันผ่านช่องทางดังต่อไปนี้


1. สารคัดหลั่ง ละอองฝอย น้ำมูก น้ำลาย ขี้ตา

2. ผ่านทางอาหารและน้ำที่มีการปนเปื้อน ผ่านการสัมผัสโดยตรง ทั้งสัมผัสพื้นผิวปนเปื้อน แม้แต่การกินอาหารร่วมกัน หรือผ่านทางอากาศ จากการไอจาม ของผู้ที่มีเชื้ออยู่ก่อน


อาการที่พบได้บ่อยหลัก ๆ 


-อาการทางระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ กลืนลำบาก เสียงแหบ

-อาการไข้หวัด คออักเสบ กล่องเสียงอักเสบ เช่น น้ำมูกไหล คัดจมูก หายใจลำบาก นอนกรน

-อาการโพรงจมูกอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เช่น หายใจลำบาก ไปจนถึงมีอาการหายใจหอบเหนื่อย

-อาการเยื่อบุตาอักเสบ หรือโรคตาแดง เช่น ตาแดง น้ำตาไหล เจ็บตา มีขี้ตา

-อาการลำไส้อักเสบ บางรายอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ร่วมด้วยได้


ระยะเวลาเฉลี่ยของการเจ็บป่วยจาก อะดีโนไวรัส หรือมีไข้ อยู่ประมาณ 4-7 วัน ในเด็กเล็ก มักพบว่ามีอาการของทางเดินหายใจที่รุนแรงได้มากกว่า มีไข้สูง เบื่ออาหาร กินไม่ได้ ร่วมกับอาการขาดน้ำได้มากเช่นกัน


การตรวจวินิจฉัยอะดีโนไวรัส 


ปัจจุบันทำได้ง่าย คือ การเก็บสิ่งส่งตรวจสารคัดหลั่ง Nasal Swab rapid test for Adenovirus หรือ ส่ง PCR สารคัดหลั่ง หรือขี้ตา เพิ่มเติมได้ หากมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว การเก็บอุจจาระตรวจ สามารถหาเชื้อ Adenovirus ได้เช่นกัน


-การรักษาอะดีโนไวรัส Adenovirus ยังเป็นไวรัสในกลุ่มที่ไม่มียาต้านไวรัสสำหรับการรักษาเฉพาะเจาะจง ดังนั้นผู้ป่วยจึงได้รับการรักษาแบบประคับประคองตามอาการที่แสดง เช่น

-การให้ยาลดไข้ : Paracetamol สำหรับบรรเทาอาการไข้ อาการเจ็บตา หรือปวดเมื่อยต่าง ๆ

-การให้สารน้ำ : เพื่อทดแทน และป้องกันการขาดน้ำ ทั้งจากไข้ จากทางเดินหายใจ หรือจากอาการอาเจียน ท้องเสีย

-การพักผ่อนให้เพียงพอ และกินอาหารที่มีประโยชน์ : เพื่อประคับประคองอาการ เพื่อการฟื้นฟู ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้มีความสามารถในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

-สำหรับเด็กเล็กที่มีอาการของระบบทางเดินหายใจ : การให้ Oxygen และการพ่นยาขยายหลอดลม ไปจนถึงการดูดน้ำมูก ดูดเสมหะ


วิธีการป้องกันการติดเชื้ออะดีโนไวรัส ที่ดีที่สุด


1. การลดการสัมผัสเชื้อ โดยการหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำสะอาด น้ำสบู่ หรือแอลกอฮอลล์เจล

2. การรักษาความสะอาดของพื้นผิวสัมผัส โดยเฉพาะบริเวณสถานที่เล่นของเด็กเล็ก โต็ะ เก้าอี้เด็ก

3. หลีกเลี่ยงพื้นที่เสี่ยง พื้นที่แออัด แหล่งชุมชน และหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสังว่าป่วยมีเชื้อไวรัสดังกล่าว

4. สอนให้มีการใส่หน้ากากอนามัย ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป (หน้ากากอนามัยชนิด 3d ไม่กดทางเดินหายใจ) และการเว้นระยะห่างอย่างเหมาะสม

5. การกินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และกินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น fish oil ผลไม้ที่มีวิตามิน บี ซี อี

6. หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม อากาศถ่ายเทสะดวก


ดังนั้น มาตรการทางสาธารณสุข การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง และหมั่นล้างมือ ยังคงเป็นมาตรการที่ช่วยลดการแพร่เชื้อ และลดโอกาสการรับเชื้อโรคไวรัสทางเดินหายใจทุกชนิด


ขอบคุณบทความจาก: พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช 

ข่าวแนะนำ