TNN "แคดเมียม" สาเหตุของ "โรคอิไตอิไต" ส่งผลกระดูกสันหลังคดและโรคมะเร็ง

TNN

Health

"แคดเมียม" สาเหตุของ "โรคอิไตอิไต" ส่งผลกระดูกสันหลังคดและโรคมะเร็ง

แคดเมียม สาเหตุของ โรคอิไตอิไต ส่งผลกระดูกสันหลังคดและโรคมะเร็ง

"แคดเมียม" สาเหตุของ "โรคอิไตอิไต" ส่งผลกระดูกสันหลังคดและโรคมะเร็ง

จากกรณีที่พบแคดเมียม 15,000 ตัน ในพื้นจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งมีการขนย้ายเข้ามาจากจังหวัดตาก และได้มีการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ โดยห้ามบุคคลหรือสิ่งอื่นใดเข้าไปภายในตัวอาคาร และได้ออกคำสั่งขนย้ายกากแร่แคดเมียมทั้งหมดออกจากจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อส่งกลับไปยังบริษัทต้นทางที่จังหวัดตาก เนื่องจากเป็นธาตุอันตรายส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน


ซึ่งแคดเมียม คือโลหะหนัก มีสัญลักษณ์คือ Cd จะพบปนอยู่กับแร่ธาตุอื่นๆ เช่น แร่สังกะสี แร่ตะกั่ว หรือทองแดง ดังนั้นในการทำเหมืองสังกะสี จะได้แคดเมียมเป็นผลตามมาด้วย แคดเมียมจะพบได้ในอาหาร ในน้ำ ในเหมือง และในน้ำทิ้ง หรือน้ำเสีย หรือในกลุ่มผู้สูบบุหรี่ โดยแคดเมียมสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งทางระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร


เมื่อแคดเมียมโดนความร้อนที่ 321 องศาเซลเซียส จะเกิดเป็นควัน ทำให้มีการกระจายไปสู่สิ่งแวดล้อมได้ เมื่อร่างกายสูดดมสารแคดเมียม จะเก็บสะสมไว้ในตับ และส่วนของหมวกไต (renal cortex) สารแคดเมียมมี half life ในร่างกายมนุษย์ถึง 30 ปี


นอกจากนี้จะพบแคดเมียมได้ในปอด และมีความเสี่ยงเกิดอันตรายส่วนของไต ทำให้หน้าที่การกรองของไต (GFR) ลดลง แคดเมียมอาจได้รับโดยการกินอาหารทะเล ที่มีการปนเปื้อนของสารแคดเมียม นอกจากนี้อาจจะได้รับแคดเมียมจากการสูดดมควันในเหมือง หรือสิ่งแวดล้อม


ในอดีตประเทศญี่ปุ่นเคยมีโรงงานปล่อยสารแคดเมียมมากับน้ำเสียของโรงงาน ทำให้เกิดการปนเปื้อนของแคดเมียมในเมล็ดข้าว และอาหาร โดยพบว่ามีผู้ป่วยมากกว่าพันคน เกิดอาการเจ็บป่วยทรมาน โดยบริเวณ แขน ขา สะโพก และบริเวณฟัน จะพบมีวงแหวนสีเหลืองติดกับเหงือก เรียกว่า วงแหวนแคดเมียม และจะมีอาการปวดร้าวสะสมนานถึง 20-30 ปี และเมื่อร่างกายเดินไม่ไหว ก็จะเกิดการกดของกระดูกสันหลัง เรียกว่าโรคอิไต-อิไต (Itai-Itai disease)


อาการที่ได้รับแคดเมียมจากการกิน จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อ ปวดท้องและปอด โดยไตและตับจะถูกทำลาย


ถ้าหากหายใจเอาควันเข้าไปในปอด ก็จะมีอาการเจ็บคอ หายใจสั่น มีเสมหะเป็นเลือด น้ำหนักลด โลหิตจาง การหายใจจะลำบากมากขึ้น สุดท้ายก็จะไตวาย


แคดเมียมที่เข้าสู่ร่างกายทั้งโดยผ่านทางระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร จะเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตจับกับโปรตีน albumin ถูกส่งไปที่ตับ ทำให้มีอาการอักเสบที่ตับ บางส่วนของแคดเมียมจะจับตัวกับโปรตีนอีกชนิดหนึ่ง (metallothionein) เข้าไปสะสมในตับและไต และถูกขับออกทางปัสสาวะ ขบวนการขับแคดเมียมออกจากไตเกิดขึ้นช้ามากใช้เวลาถึงประมาณ 20 ปี ถึงสามารถขับแคดเมียมออกได้ครึ่งหนึ่งของแคดเมียมที่มีการสะสมอยู่ในไตออกได้ ทำให้มีอาการกรวยไตอักเสบ


ผู้ที่ได้รับแคดเมียมเรื้อรัง มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่างๆ เช่นมะเร็งปอด ไต ต่อมลูกหมาก และตับอ่อน มีรายงานผู้ป่วยที่กินข้าวที่เพาะปลูกจากแหล่งที่ดินมีการปนเปื้อนแคดเมียม จะมีอาการของโรคกระดูกพรุน และกระดูกมีการเจริญที่ผิดปกติ


ที่มา : คณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล

ภาพ: Envato, คณะเทคนิคการแพทย์มหิดล

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง