TNN online หมอเตือนไวรัสซิการะบาดกทม. - สตรีมีครรภ์เสี่ยงสูงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

TNN ONLINE

Health

หมอเตือนไวรัสซิการะบาดกทม. - สตรีมีครรภ์เสี่ยงสูงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

หมอเตือนไวรัสซิการะบาดกทม. - สตรีมีครรภ์เสี่ยงสูงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

แพทย์ด้านไวรัสวิทยาคลินิกเตือน ‘ไข้ไวรัสซิกา’ เริ่มพบระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ สตรีมีครรภ์เสี่ยงสูงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง กระทบทารกพิการทางสมอง

วันนี้ ( 28 ธ.ค. 66 ) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า โรคไข้ไวรัสซิกา ขณะนี้พบได้มากโดยเฉพาะใน ‘กรุงเทพมหานคร’ โดยโรคไข้ไวรัสชิก้า เป็นโรคที่มียุงลายเป็นพาหะ ลักษณะคล้ายไข้เลือดออก ความรุนแรงน้อยกว่าแต่บางรายอาจทำให้เกิดเส้นประสาทอักเสบ และมีผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงหยุดหายใจได้ และจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งในสตรีตั้งครรภ์ เด็กในท้องจะพิการทางสมอง มีศีรษะเล็ก


ขณะนี้มีการระบาดของโรคนี้ค่อนข้างมากในเขตกรุงเทพฯ แม้กระทั่งในวัดก็ไม่เว้น และเข้าใจคิดว่าเป็นโรคหัด จริง ๆ แล้วถ้าเป็นโรคหัดจะต้องมีอาการของทางเดินหายใจ เช่น เจ็บคอ ไอ แต่ไวรัสชิก้า จะไม่มีอาการดังกล่าว


อย่างไรก็ตามไข้ไวรัสชิกาที่รุนแรง จะมีอาการที่เรียกว่า Guillain-Barre syndrome (GBS) อาการของเส้นประสาทอักเสบ มีการอ่อนแรง และรุนแรงถึงกับเสียชีวิตได้โดยโรคนี้นำโดยยุงลาย เช่นเดียวกับไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย


อย่างไรก็ตาม ข้อมูลกรมควบคุมโรค ระบุว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกา จะทำให้ผู้ป่วยมีผื่นแดงตามลำตัวและแขนขา มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาแดง และสามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ ทารกเกิดความพิการทางสมองและระบบประสาท ส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก การได้ยินผิดปกติ และพัฒนาการช้า  โดยแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด ไปฝากครรภ์ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์จนกว่าจะคลอด หากตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสซิกาต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสูตินรีแพทย์


นอกจากนี้ ขอให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและในชุมชน โดยใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค คือ


1.เก็บบ้านให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก 

2. เก็บขยะภายในบริเวณบ้าน และชุมชนให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 

3. เก็บน้ำเก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดด้วยการทายากันยุง และนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย 


ทั้งนี้ขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ได้แก่ แอสไพริน และไอบูโพรเฟนมารับประทาน และให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ 


ข้อมูลจาก : ศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภู่วรวรรณ 

ภาพจาก: AFP 
 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง