เมื่อร่างกายเผชิญ "อากาศร้อน" แต่ละระดับ จะเกิดอาการอะไรขึ้นบ้าง?
นักวิชาการ ยกผลงานวิจัย เมื่อร่างกายเผชิญอากาศร้อนแต่ละระดับ จะเกิดอาการต่างๆ อะไรขึ้นบ้าง?
นักวิชาการ ยกผลงานวิจัย เมื่อร่างกายเผชิญอากาศร้อนแต่ละระดับ จะเกิดอาการต่างๆ อะไรขึ้นบ้าง?
นายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เปิดเผยว่า extreme heat ประเทศไทยร้อนสุดขั้วช่วงเมษายนนี้ ขอให้ระวังสุขภาพ เนื่องจากงานวิจัยที่ศึกษาในดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ระบุว่าประชาชนที่อยู่ทั้งในที่ร่ม หรือ กลางแดด เมื่อได้รับอากาศร้อนที่อุณหภูมิต่างกันประมาณ 1 ชั่วโมง หรือน้อยกว่านี้ จะทำให้คนส่วนใหญ่จะมีอาการดังนี้ คือ
เมื่อได้รับอากาศร้อนที่อุณหภูมิต่างกันเกิดอาการต่างๆ
- อุณหภูมิอากาศระหว่าง 39-40 องศาเซลเซียส
สมองจะสั่งงานช้าลง อวัยวะของร่างกายทำงานช้าลง เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว
- อุณหภูมิอากาศระหว่าง 40-41 องศาเซลเซียส
จะมีอาการหมดแรง อยากลงไปนอนกับพื้น
- อุณหภูมิอากาศมากกว่า 41 องศาเซลเซียส ขึ้นไป
ร่างกายจะเริ่ม Shut down คือระบบการทำงานของร่างกายจะเริ่มล้มเหลว นำไปสู่อาการ heat cramps หรือตะคริวจากการสูญเสียเกลือแร่ heat exhaustion หรืออาการเพลียแดด หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก heat stroke หรืออาการเป็นลมแดดเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนไม่สามารถระบายความร้อนออกได้ทันที มีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก
- อุณหภูมิอากาศถึง 50 องศาเซลเซียส
ร่างกายจะรับไม่ไหว และโอกาสเสียชีวิตทันทีสูงมาก จากการที่หัวใจล้มเหลว
นอกจากนี้ งานวิจัยยังแนะนำด้วยว่า หากอุณหภูมิสูงตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไม่ควรอยู่กลางแดดช่วงเวลา 09.00-15.00 น. ควรดื่มน้ำบ่อยๆอย่างน้อย 2 ลิตรต่อวัน ถ้าออกแดดต้องแต่งตัวมิดชิด กางร่ม ใส่หมวก สวมแว่นกันแดด เพื่อป้องกันรังสี UVA และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF30++ เป็นอย่างน้อย
ที่สำคัญควรออกแดดให้น้อยที่สุด ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ หรือคาเฟอีน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลมากๆ เพราะจะเร่งทำให้เกิดการเพลียแดด และเร่งการเกิดอาการฮีทสโตรก (heat stroke) หรือลมแดดเร็วขึ้น ควรหลบอยู่ในที่ร่มในอาคาร เปิดพัดลมระบายอากาศ หากมีแอร์เปิดแอร์ และจิบน้ำเป็นระยะ
ภาพจาก AFP