เปิดสถิติ "เด็กไทยติดหวาน" ชานม-น้ำอัดลม ติดอันดับ เสี่ยงเกิดหลายโรค
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห่วงเด็กไทยติดหวาน พบ 1 วัน เด็กไทยนิยมบริโภคเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากกว่าน้ำเปล่า แนะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดความเสี่ยงโรคอ้วนและโรคเรื้อรังในอนาคต
นายแพทย์ สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันเด็ก ปี 2566 กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ห่วงเด็กไทยในการบริโภคของหวาน หากรับประทานเกินจำนวนที่แนะนำในการบริโภคต่อวัน จะส่งผลให้เด็กไทยติดหวาน และเป็นโรคอ้วน จากข้อมูลเฝ้าระวังพฤติกรรมด้านสุขภาพ ได้สำรวจพฤติกรรมการดื่มน้ำอัดลม และเครื่องดื่มรสหวาน ในกลุ่มวัยเรียน ในปี 2564 จำนวน 6,634 คน พบว่าใน 1 วัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวาน สูงถึงร้อยละ 86.5 และมีเพียงร้อยละ 13.5 เท่านั้นที่ดื่มน้ำเปล่า
ส่วนประเภทเครื่องดื่มรสหวานที่ดื่มเป็นประจำ 3 ลำดับแรก คือ น้ำอัดลม ร้อยละ 40.95 รองลงมาชานมไข่มุก ร้อยละ 29.16 และน้ำผลไม้ที่มีรสหวาน ร้อยละ 9.34 ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะนำการทานอาหารที่มีประโยชน์อย่างเพียงพอ และเหมาะสมทำให้สุขภาพแข็งแรง ด้วยการเลี่ยงการดื่มน้ำอัดลม หรือ เครื่องดื่มที่มีรสหวาน เน้นดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชน อ่านฉลากโภชนาการ เพื่อทราบปริมาณน้ำตาลในน้ำอัดลม หรือ เครื่องดื่มรสหวานประเภทต่างๆ และทานอาหารที่มีประโยชน์
อย่างไรก็ตาม ครอบครัวและโรงเรียน มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มพูนความรอบรู้ด้านสุขภาพ ในเรื่องโรคอ้วนให้กับเด็ก เพราะหากเด็กมีสุขภาพที่ดีตั้งแต่วัยเยาว์ จะส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดีทางด้านสุขภาพ แต่ถ้าหากเด็กมีความรอบรู้ด้านสุขภาพเรื่องโรคอ้วนในระดับต่ำแล้ว จะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอ้วนและโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ โดยผู้ปกครอง และโรงเรียนสามารถปรับพฤติกรรมเด็กต่างๆ ตามแนวทางสุขบัญญัติ เช่น จัดเตรียมอาหารที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการ เพิ่มผักผลไม้ หลีกเลี่ยงขนมขบเคี้ยว อาหารที่มีรสหวานจัด และเครื่องดื่มที่มีรสหวานทุกชนิดทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน รวมทั้งส่งเสริมกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายตามความชอบและความถนัดของเด็กอย่างเหมาะสม ลดพฤติกรรมการนั่งดูทีวี เล่นเกมคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน การออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้สามารถควบคุมน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ให้เด็กไทยมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงต่อไป
ภาพ แฟ้มภาพ TNNOnline