TNN เปิดสถิติ "โรคมะเร็ง" ในไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 140,000 คน/ปี

TNN

Health

เปิดสถิติ "โรคมะเร็ง" ในไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 140,000 คน/ปี

เปิดสถิติ โรคมะเร็ง ในไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 140,000 คน/ปี

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็ง เผย แต่ละปีไทยจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 140,000 คน หรือ ประมาณ 400 คนต่อวัน โดยชายไทย พบ เป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดีมากที่สุด ส่วนหญิงไทย พบ เป็นมะเร็งเต้านม อันดับ1

ข้อมูลจากสถาบันมะเร็ง เผย แต่ละปีไทยจะมีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่กว่า 140,000 คน หรือ ประมาณ 400 คนต่อวัน โดยชายไทย พบ เป็นมะเร็งตับและท่อน้ำดีมากที่สุด ส่วนหญิงไทย พบ เป็นมะเร็งเต้านม อันดับ1 


วันนี้( 9 ธ.ค.65) บริเวณ สถานีรถไฟใต้ดินลาดพร้าว กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้จัดกิจกรรมวันต่อต้านมะเร็งแห่งชาติ ในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี ภายในงาน มีกิจกรรม การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก การให้ความรู้คัดกรองมะเร็งเต้านมเบื้องต้นด้วยตัวเอง และการสาธิตการตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยชุดตรวจแบบเร็ว ซึ่งจะทำการตรวจคัดกรองประชาชนอายุ 50-70 ปี 

การตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระด้วยวิธี FIT Test ทุกๆ 2 ปี ประชาชนสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหากพบผลผิดปกติก็จะวินิจฉัยโรคด้วยการส่องกล้องต่อไป

โดยพบว่า กิจกรรมการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วยชุดตรวจด้วยตัวเองมีประชาชนกลุ่มเป้าหมายผู้หญิงอายุ 30 ปีขึ้นไป ให้ความสนใจคัดกรองเป็นจำนวนมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่จะให้ความรู้ถึงการตรวจด้วยตัวเอง โดยประชาชนจะนำชุดตรวจไปเก็บสิ่งตรวจภายในห้องน้ำ และส่งให้กับเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจในห้องปฏิบัติการ ก่อนจะแจ้งผลผ่านเบอร์โทรศัพท์มือถือ รู้ผล15วันทำการ ประชาชนสามารถที่จะเข้ารับชุดตรวจคัดกรองได้จนถึงเวลา 17.30 น. 

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์  ระบุว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทยและอัตราการเกิดโรคยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งมีโอกาสเกิดมะเร็ง รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตและ สภาพแวดล้อมที่เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดมะเร็งมากขึ้น  

จากข้อมูลสถิติทะเบียนมะเร็งประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ รายงานว่า แต่ละปีจะมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน หรือคิด เป็นประมาณ 400 คนต่อวัน โดยโรคมะเร็ง ที่พบมาก 5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี  มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักและมะเร็งปากมดลูก

สำหรับมะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกในชายไทยอันดับ 1 ร้อยละ 33.2 มะเร็งตับและท่อน้ำดี , มะเร็งปอด ร้อยละ 22.8 , มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง  ร้อยละ 18.7 , มะเร็งต่อมลูกหมาก  ร้อยละ และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ร้อยละ 6.6 

ส่วน มะเร็งที่พบบ่อย 5 อันดับแรกในหญิงไทย อันดับ 1 มะเร็งเต้านม ร้อยละ 34.2 ,มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ร้อยละ 13.3  , มะเร็งตับและท่อน้ำดี ร้อยละ 12.2 , มะเร็งปอดร้อยละ 11.5 , มะเร็งปากมดลูกร้อยละ 11.1

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ  ระบุถึง สาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง มีทั้งปัจจัยภายในร่างกาย เช่น พันธุกรรมมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 5-10 และปัจจัยภายนอกร่างกายประมาณ ร้อยละ 90-95 พฤติกรรมการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  รับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง  รวมไปถึงการได้รับสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม  ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตโดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงจะทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้ ซึ่งอาจลดลงได้ถึง ร้อยละ 40

ทั้งนี้ มะเร็งบางชนิด สามารถตรวจคัดกรองได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง .



แฟ้มภาพ AFP

ข่าวแนะนำ