TNN ทำไม"อีโบลา"ไม่หายไปจากธรรมชาติ? เช็กระยะฟักตัว-อาการของโรค

TNN

Health

ทำไม"อีโบลา"ไม่หายไปจากธรรมชาติ? เช็กระยะฟักตัว-อาการของโรค

ทำไมอีโบลาไม่หายไปจากธรรมชาติ? เช็กระยะฟักตัว-อาการของโรค

ดร.อนันต์ ไขข้อสงสัยทำไม ไวรัสอีโบลา (Ebola) ไม่หายไปจากธรรมชาติทั้งๆที่ไม่พบคนป่วยมาตั้งนานแล้ว ระยะฟักตัวของเชื้อกี่วัน อาการเป็นอย่างไรเช็กเลยที่นี่

ดร.อนันต์ ไขข้อสงสัยทำไม ไวรัสอีโบลา (Ebola) ไม่หายไปจากธรรมชาติทั้งๆที่ไม่พบคนป่วยมาตั้งนานแล้ว ระยะฟักตัวของเชื้อกี่วัน อาการเป็นอย่างไรเช็กเลยที่นี่


วันนี้( 26 ต.ค.65) ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ไบโอเทค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana เกี่ยวกับ ไวรัสอีโบลา (Ebola) โดยระบุว่า


"ทำไม Ebola Virus ถึงไม่หายไปจากธรรมชาติทั้งๆที่ไม่พบคนป่วยมาตั้งนานแล้ว คำตอบก็คือ ไวรัสไม่ได้มีคนเป็นพาหะนำโรค แต่ คนเป็นโฮสต์ที่สามารถรับเชื้อไวรัสเข้ามาแล้วสามารถแพร่เชื้อต่อไปยังคนอื่นๆต่อได้ ถึงแม้จะทำการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อในคนจนไม่เหลือคนติดเชื้อแล้ว ไวรัสที่อยู่ในพาหะอื่นๆในธรรมชาติก็สามารถกระโดดเข้ามาติดคนได้อีกเมื่อมีโอกาส 


ทุกครั้งที่กระโดดมาติดคนได้สำเร็จ ก็จะเกิดการติดเชื้อในประชากรมนุษย์ได้อีก ควบคุมได้ไวปัญหาก็จะไม่เป็นวงกว้าง ถ้าควบคุมได้ช้าหรือไม่มีประสิทธิภาพการแพร่กระจายของเชื้อก็จะขยายพื้นที่ไปเรื่อยๆเหมือนสถานการณ์ในยูกันดาในตอนนี้


เชื่อกันว่าสัตว์ตัวกลางที่เป็นแหล่งรังโรคของไวรัสอีโบล่าคือ ค้างคาว โดยไวรัสสามารถติดอยู่ในร่างกายของค้างคาวแบบไม่แสดงอาการป่วย หรือ ผิดปกติใดๆ ค้างคาวสามารถปลดปล่อยไวรัสสู่สิ่งแวดล้อมซึ่งสัตว์ตัวกลางที่มักจะรับเชื้อจากค้างคาวคือ ลิง และ เก้ง กวาง โอกาสที่คนจะรับเชื้อจากค้างคาวโดยตรงก็มี แต่เชื่อว่า โอกาสน้อยกว่าการรับจากสัตว์ตัวกลางที่ติดเชื้อมาจากค้างคาวผ่านกิจกรรมที่ไปสัมผัสสัตว์เช่น ไปล่าสัตว์แล้วนำเนื้อมาเป็นอาหาร ซึ่งเป็นช่องทางรับไวรัสมาแบบโดยตรง


อาการของอีโบลา

คนที่รับเชื้อไวรัสเข้ามามีระยะฟักตัวได้แตกต่างกัน บางคนสั้นเพียง 2 วัน บางคนยาวนานถึง 21 วัน แต่โดยเฉลี่ยแล้วระยะฟักตัวของเชื้อคือ 8-10 วัน อาการของโรคคือ มีไข้ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดทั่วร่างกาย อ่อนเพลียไม่มีแรง หลังจากนั้นบางรายจะมีอาการเลือดไหลออกมาทางส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น จมูก ตา ปาก บางรายมีอาการถ่ายเป็นเลือด ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรงทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก การรักษาพยาบาลแบบใกล้ชิด โดยเฉพาะการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง เช่น เลือด หรือ อาเจียนของผู้ป่วย หรือ การสัมผัสกับศพผู้ป่วย เป็นโอกาสให้เชื้อแพร่จากคนสู่คนได้


เนื่องจากผู้ป่วยอีโบล่ามีอาการรุนแรงขณะแพร่เชื้อ ทำให้การเคลื่อนไหวไปในที่ต่างๆจะไม่เกิดขึ้น ซึ่งแตกต่างจากผู้ป่วยโควิดที่ผู้ป่วยแพร่เชื้อได้ในช่วงที่สามารถมีกิจกรรมได้เหมือนคนปกติ ทำให้การแพร่กระจายเชื้ออีโบล่าเกิดขึ้นได้ไม่ง่าย แต่เนื่องจากผู้ที่ได้รับเชื้อบางคนมีระยะฟักตัวที่อาจยาวนานกว่าปกติ คนที่มีความเสี่ยงไปในพื้นที่ระบาดควรมีการเฝ้าระวังอาการจนกว่าจะมั่นใจว่าปลอดภัย"


การติดต่อ จาก (กรมควบคุมโรค)

-สัมผัสโดยตรง กับ เลือด สิ่งคัดหลั่ง อวัยวะ หรือน้ำจากร่างกายผู้ติดเชื้อ งานศพ ญาติผู้เสียชีวิตที่สัมผัสร่างกายของผู้เสียชีวิต ผู้ดูแลลิงชิมแปนซี กอริลลาที่ป่วย และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่รักษาผู้ป่วยอีโบลา โดยไม่ป้องกัน ระยะแพร่เชื้อ ตั้งแต่เริ่มมีไข้ และตลอดระยะที่มีอาการ

-โรคนี้ พบได้ทุกกลุ่มอายุ อาการ ไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ตามด้วยอาการท้องเสีย อาเจียน ผื่น ไตและตับไม่ทำงาน บางรายมีเลือดออกทั้งภายในและภายนอก ตรงจเลือดพบเม็ดเลือดขาวต่ำ การวินิจฉัยโดยการตรวจ antigen-RNA หรือ genes ของไวรัสจากตัวอย่างเลือด หรือ ตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อไวรัส หรือ แยกเพาะเชื้อไวรัส 

การตรวจตัวอย่างเหล่านี้ มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก ต้องทำในห้องปฎิบัติการที่มีการป้องกันระดับสูง ระดับ 4 การรักษายังไม่มีการรักษาเฉพาะรวมทั้งยังไม่มีวัคซีน การทดแทนน้ำ-เกลือแร่ให้เพียงพอ








ที่มา Anan Jongkaewwattana / กรมควบคุมโรค

ภาพจาก AFP

ข่าวแนะนำ