เตือน! สายแคมป์ปิ้งเข้าป่าหยุดยาว ระวังป่วยเป็นโรคนี้เสี่ยงเสียชีวิต
เตือนภัย! สายแคมป์ปิ้ง เข้าป่าหยุดยาวอย่ามัวแต่ชมธรรมชาติเพลิน ระวังป่วยเสี่ยงเป็นโรคนี้ หากรุนแรงเสี่ยงเสียชีวิต
ใกล้เข้าสู่ฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงเวลาการท่องเที่ยวทางภาคเหนือ แพทย์เตือนสายแคมป์ปิ้ง ระวังไข้รากสาดใหญ่ โดย นายแพทย์จตุชัย มณีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ คาดว่าในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้จะมีโอกาสพบผู้ป่วย โรคไข้รากสาดใหญ่เพิ่มขึ้น เนื่องจากช่วงนี้อากาศเริ่มเย็นลง ประชาชนมักเดินทางท่องเที่ยวตามป่าเขาและกางเต็นท์นอนเพื่อสัมผัสอากาศหนาว เสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย Orientia tsutsugamushi (โอเรียนเทีย ซูซูกามูชิ) จากการถูกตัวไรอ่อนที่มีเชื้อกัด
จากการเฝ้าระวังของกลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ สถานการณ์ “โรคไข้รากสาดใหญ่” หรือ “โรคสครับไทฟัส” (Scrub typhus) ในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 10 ตุลาคม 2565 มีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่จำนวน 652 ราย ยังไม่พบผู้เสียชีวิต
ตัวไรอ่อนมีขนาดเล็กมากและอาศัยอยู่ตามใบไม้ ใบหญ้าใกล้กับพื้นดินที่มีความชื้นแต่ไม่เปียกแฉะ จะเกาะติดไปตามเสื้อผ้าของคนและกัดผิวหนัง บริเวณที่มักถูกกัด คือ รักแร้ ขาหนีบ รอบเอว หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะแสดงอาการ ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย มีผื่นแดงขนาดเล็กค่อยๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น และอาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar) แต่จะไม่ปวดและไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ อาจทำให้เสียชีวิตได้
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ แนะนำนักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวตั้งแคมป์กางเต็นท์นอนในป่าหรือไปในพื้นที่เกษตรกรรม ควรสวมเสื้อผ้าให้มิดชิดหรือสวมเสื้อผ้าที่มีสารป้องกันแมลงและทายากันยุงซึ่งสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้ นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม ไม่ว่าจะเป็นป่าโปร่ง ป่าละเมาะ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่หรือตั้งรกรากใหม่ ทุ่งหญ้า ชายป่าหรือบริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการสัมผัสโรค
หลังออกจากพื้นที่เสี่ยงให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย สระผม และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดด้วยผงซักฟอกเข้มข้น หากมีอาการไข้และอาการข้างต้น ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ข้อมูลจาก : ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่
ภาพจาก : ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดเชียงใหม่/cdc.gov/