TNN 9 วิธีรักษา "โรคกระเพาะ" ให้หายขาดด้วยตัวเอง แค่เปลี่ยนพฤติกรรม

TNN

Health

9 วิธีรักษา "โรคกระเพาะ" ให้หายขาดด้วยตัวเอง แค่เปลี่ยนพฤติกรรม

9 วิธีรักษา โรคกระเพาะ ให้หายขาดด้วยตัวเอง แค่เปลี่ยนพฤติกรรม

"โรคกระเพาะ" ถูกจัดให้เป็น "โรคที่ไม่ใช่โรค" แต่เป็นอาการที่เกิดจากพฤติกรรมชีวิตที่ไม่ถูกต้องตามหลักอนามัย สิ่งสำคัญในการรักษาโรคกระเพาะให้หายขาดได้ด้วยตัวเอง นั่นคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต

"โรคกระเพาะ" เป็นแล้วหายขาดยาก สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้เรื่อยๆ เมื่ออาการกำเริบก็สุดแสนจะทรมาน 

"โรคกระเพาะ" เป็นอาการที่เกิดจากพฤติกรรมชีวิตที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา การรับประทานอาหารด้วยความเร่งรีบ อดข้าวบางมื้อ หรือความเครียดสะสม จากคำที่มักได้ยินบ่อยๆ ที่ว่า "เครียดลงกระเพาะ" 

ทำให้มีอาการปวดท้อง จากภาวะมีกรดในกระเพาะอาหารมาก โดยกรดนี้ไประคายเคืองกระเพาะจนทำให้เกิดแผลที่ผนังของกระเพาะอาหารหรือที่ลำไส้เล็กตอนบน

ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะบางรายอาจจะมีอาการเป็นๆ หายๆ ส่วนเวลาเกิดอาการมักจะปวดท้องนานครั้งละ 15-30 นาที วันละหลายครั้งตามมื้ออาหาร เป็นได้ทั้งเวลาก่อนรับประทานอาหารหรือหลังรับประทานอาหารใหม่ๆ และเวลาท้องว่าง ซึ่งอาการปวดท้องจะบรรเทาลงถ้าได้รับประทานข้าว ดื่มน้ำ ดื่มนมหรือรับประทานยาลดกรด

"โรคกระเพาะ" ถูกจัดให้เป็น "โรคที่ไม่ใช่โรค" แต่เป็นอาการที่เกิดจากพฤติกรรมชีวิตที่ไม่ถูกต้องตามหลักอนามัย โดยสิ่งสำคัญในการรักษาโรคกระเพาะให้หายขาดได้ด้วยตัวเอง นั่นคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตัวเอง มีวินัยในตัวเอง ก็สามารถรักษาให้หายได้ 


วิธีรักษาโรคกระเพาะให้หายขาด 


การรักษาโรคกระเพาะให้หายขาดด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งวิทยาการทางการแพทย์หรือยารักษา นั่นคือ หลักโภชนบำบัด คือ การกินอาหารให้ครบทุกหมวดหมู่อย่างสมดุล เพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน 

เพื่อช่วยรักษาเนื้อเยื่อแผลในกระเพาะให้หายเร็วขึ้น และเลี่ยงอาหารที่กระตุ้นการหลั่งของกรดมากเกินไป มีปัจจัยหลายประการที่เกี่ยวข้องกับนิสัยการบริโภคที่ผู้มีปัญหาโรคกระเพาะต้องปรับเปลี่ยนดังนี้


1. รับประทานอาหารตรงเวลาทุกมื้อ

รับประทานอาหารในปริมาณน้อยๆ แต่แบ่งเป็นหลายมื้อ วันละ 4 ถึง 5 มื้อ ไม่รับประทานอาหารก่อนนอน เพราะทุกครั้งที่อาหารตกถึงท้องจะกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะออกมา อาจทำให้อาการปวดท้องได้


2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด หรือเปรี้ยวจัด ของหมักดอง

เช่น พริกต่างๆ กินเท่าที่ระบบย่อยของตัวเองจะรับได้โดยไม่เกิดอาการ เลี่ยงน้ำส้มน้ำมะนาวที่มีรสเปรี้ยว ทำให้ไม่สบายท้อง เนื่องจากกรดไหลย้อนกลับทางทำให้เกิดอาหารแสบร้อนในลิ้นปี่


3. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คาเฟอีน ชา กาแฟ น้ำอัดลม

เบียร์และไวน์ จะทำให้กระเพาะหลั่งกรดได้มากขึ้น ส่วนการดื่มกาแฟจะไปช่วยกระตุ้นการหลั่งกรดและอาจทำให้อาหารไม่ย่อย ชาอาจจะพอรับได้สำหรับบางคน แต่ก็ยังมีส่วนกระตุ้นการหลั่งกรด แม้จะน้อยกว่ากาแฟก็ตาม


4. งดสูบบุหรี่

เนื่องจากเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น


5. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร 

การใช้ยาแอสไพริน ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่เสตอรอยด์ ยาสเตอรอยด์ และควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งที่ใช้ยา รวมทั้ง ยาลดกรดไม่ควรใช้มากเกินไป เนื่องจากกรดในกระเพาะจะช่วยในการย่อยและดูดซึมสารอาหารเช่นเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี 12 ลดการเจริญของเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะ แบคทีเรียในอาหารเมื่อตกถึงกระเพาะจะถูกกรดทำลาย จึงช่วยป้องกันแบคทีเรียที่ก่อสารเกิดมะเร็ง การใช้ยาลดกรดมากจึงไม่ดีต่อระบบย่อย


6. หลีกเลี่ยงการดื่มนมบ่อยๆ

ผู้ที่มีปัญหาการย่อยน้ำตาลในนม (แลคโตส) อาจเกิดอาการท้องอืด มีแก๊ส ปวดท้อง ท้องเสียดได้เพราะระบบย่อยขาดเอนไซม์แลคเตสซึ่งใช้ย่อยน้ำตาลนม


7. หลีกเลี่ยงความเครียด หรือความวิตกกังวล และพักผ่อนให้เพียงพอ

ความเครียดจะไม่ใช่สาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดกระเพาะ แต่อาจเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้อาการโรคกระเพาะเลวร้ายลงไปอีก โดยทำให้หายช้า


8. รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เคี้ยวช้าๆ เคี้ยวให้ละเอียด

การรับประทานอาหารด้วยความเร่งรีบ บดเคี้ยวไม่ละเอียดเพียงพอ ทำให้กระบวนการย่อยอาหารส่วนอื่นๆ ต้องทำงานหนักขึ้น กระเพาะอาหารต้องใช้เวลานานกว่าจะย่อยอาหาร โดยอาหารที่ย่อยไม่หมดเสี่ยงที่จะมีปัญหาในระบบการย่อยอาหารอื่น ๆ ตามมาได้อีกเช่นกัน


9. ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่างมากเกินไป 


แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป


ขอบคุณข้อมูลจาก

พญ. พรพรรณ เทียนชนะไชยา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ โรคระบบทางเดินอาหาร

โรงพยาบาลศิครินทร์ กรุงเทพ

หน่วยสารสนเทศมะเร็ง โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

ภาพปกโดย tirachardz on Freepik

ข่าวแนะนำ