"มาลาเรียขึ้นสมอง" ไขอาการบุคลิกภาพเปลี่ยน เพ้อ สับสน หวาดระแวง เห็นภาพหลอน
"โรคมาลาเรีย" เกิดจากการที่ยุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะนำโรค เข้าสู่ร่างกาย หลังจากปล่อยเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะพัฒนาทำให้เกิดเป็นโรคมาลาเรียทำให้มีไข้สูง ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงคือ “ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง”
"โรคมาลาเรีย" เกิดจากการที่ยุงก้นปล่องเพศเมียเป็นพาหะนำโรค เข้าสู่ร่างกาย หลังจากปล่อยเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะพัฒนาทำให้เกิดเป็นโรคมาลาเรียทำให้มีไข้สูง ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงคือ "ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง"
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การติดเชื้อโรคมาลาเรียถือเป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยแถบเส้นศูนย์สูตร แม้ว่าจะมีการรู้จักและเข้าใจโรคมาลาเรียมากขึ้น
แต่ปัจจุบันยังมีผู้เสียชีวิตในระดับหลักล้านคนต่อปีทั่วโลก "ภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง" ถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญของการติดเชื้อมาลาเรีย โดยปกติจะมีแค่เชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัม ที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรียขึ้นสมอง
"โรคมาลาเรีย" เกิดจากเชื้อที่เรียกว่าพาสโมเดียม ซึ่งในมนุษย์มีเชื้อมาลาเรียที่ติดต่อได้ทั้งหมด 4 ประเภทได้แก่
1. เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมฟัลซิปารัม
2. เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมไวแวกซ์
3. เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมมาลาเรอิ
4. เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโอวาเล
และอาจพบเชื้ออีกชนิดที่มาจากลิงสู่คนเรียกว่า เชื้อมาลาเรียพลาสโมเดียมโนไซ ซึ่งในทั้งหมดเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัม เป็นเชื้อที่มีความรุนแรงสุด ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในหลายระบบจนถึงอาการทางสมองและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
ด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย จะผ่านจากไปยังเซลล์ตับและเข้าไปอาศัยในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงมีรูปร่างผิดปกติ ส่งผลให้เม็ดเลือดแดงที่มีเชื้อมาลาเรียไปอุดกั้นระบบไหลเวียนขนาดเล็ก
ทำให้สมองขาดเลือดไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติ ในบางรายมีลักษณะความดันในสมองเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการผิดปกติเช่น มีพฤติกรรมสับสน ภาวะเพ้อ เกิดอาการชัก
ในกรณีนี้แม้จะมีการอุดกั้นเกิดขึ้นแต่ลักษณะการอุดกั้นไม่ใช่เส้นเลือดใหญ่ จึงไม่ได้พบผู้ป่วยที่มีลักษณะแขนขาอ่อนแรงเหมือนในผู้ป่วยเส้นเลือดสมองตีบ
อาการอย่างอื่นที่สามารถพบได้ เช่น อาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อตามตัว คอแข็ง บางรายอาจมีอาการกัดฟันค้าง ไม่เปิดปาก หรืออาจมีอาการเกร็งของร่างกายผิดปกติ
อาการอย่างอื่นที่อาจตรวจเจอร่วม ได้แก่ ตับโต ตัวเหลือง ปอดมีน้ำคั่ง ไตวาย น้ำตาลในเลือดต่ำ มีเลือดออก หรือ ความดันตก
ในการวินิจฉัยประวัติคือส่วนสำคัญ การตรวจเจอเชื้อในเลือด โดยการดูผ่านสไลด์จะเป็นวิธี ที่ยืนยันการวินิจฉัยได้ดีที่สุด ในผู้ป่วยมาลาเรียอาจจะมีลักษณะอาการทางจิต เช่น หวาดระแวง หลงผิด บุคลิกภาพเปลี่ยน เห็นภาพหลอน ภาวะสับสน ซึมเศร้า
ภาวะดังกล่าวอาจไม่ได้เจอบ่อยมักจะเจอในช่วงที่กำลังหายจากโรค หรือช่วงที่ขณะให้ยารักษามาลาเรียบางชนิด เนื่องจากภาวะมาลาเรียขึ้นสมองถือเป็นภาวะฉุกเฉินถ้าได้รับการยืนยันการวินิจฉัย ผู้ป่วยควรจะได้รับการรักษาที่รวดเร็ว เหมาะสม และคอยสังเกตภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่มีผลต่อการเสียชีวิต ของผู้ป่วยได้.
ข้อมูลจาก กรมการแพทย์
ภาพจาก แฟ้มภาพ AFP