ดีไซเนอร์มาเลย์ตอบแล้ว!! หลังชาวเน็ตชี้เป้าว่าเขาถูกแบรนด์ดังก็อปชุดที่งาน Met Gala
ถือเป็นข่าวที่ชาวเน็ตโดยเฉพาะฝั่งเอเชียพากันแชร์อย่างต่อเนื่อง กรณีแบรนด์หรูสัญชาติอเมริกัน ทำเสื้อคลุมไร้แขนออกมาคล้ายกับของดีไซเนอร์ชาวมาเลเซียที่โด่งดังมากในนิวยอร์ก
ทำเอาหลายคนตกใจไม่น้อยเมื่อเสื้อคลุมไม่มีแขนปักลวดลายตึกระฟ้าในนิวยอร์ก ผลงานของแบรนด์ “ราล์ฟ ลอเรน” (Ralph Lauren) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์ของชุดหรูที่ “อลิเชีย คีย์ส” (Alicia Keys) ศิลปินหญิงหลายรางวัลแกรมมี่ สวมไปร่วมงาน Met Gala หรืองานออสการ์ของวงการแฟชั่น เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น
มีชาวเน็ตตาดีชี้ว่า รูปแบบเหมือนมากกับเสื้อคลุมไม่มีแขน หรือ Cape ที่ออกแบบโดย “ดาโต๊ะ ซัง ทอย” (Datuk Zang Toi) ดีไซเนอร์ชื่อดังชาวมาเลเซีย โดยเป็นผลงานจากคอลเลกชั่นที่เคยเปิดโชว์ในงานสัปดาห์แฟชั่นนิวยอร์ก (New York Fashion Week) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 และถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่จุดเริ่มต้น “ดาโต๊ะ ซัง ทอย” ออกแบบเสื้อคลุมนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2009
"อลิเชีย คีย์ส" ในงาน Met Gala 2022 (ภาพจาก: AP)
ชุดของดีไซเนอร์มาเลเซีย จากปี 2020 (ภาพจาก: IG zangtoi)
เรื่องนี้ทางดีไซเนอร์ชาวมาเลเซียให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ New York Post ว่า มีแฟนๆ และชาวเน็ตจำนวนมาก ส่งข้อความมาบอกเขาว่าผลงานถูกลอกที่งาน Met Gala ซึ่งเขาต้องบอกตามตรงว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลงานของเขาถูกก็อป แต่ไม่ขอเอ่ยชื่อว่าคนลอกมีใครบ้าง และถ้ามองแง่ดีก็ถือว่างานของเขาดีจนมีคนคิดจะทำตามก็แล้วกัน
พร้อมกันนี้ “ดาโต๊ะ ซัง ทอย” ยังเผยที่มาของเสื้อคลุมปักลวดลายตึกระฟ้าในนิวยอร์กนี้ว่าเพื่อแสดงความคารวะแก่นครนิวยอร์กอันเหมือนเป็นบ้านหลังที่สองของเขาเนื่องจากอาศัยอยู่ที่นี่มากว่า 40 ปี นับแต่ลัดฟ้ามาเรียนต่อด้านการออกแบบที่ Parsons School of Design พร้อมทุนเล่าเรียนติดตัวมาเพียง 300 ดอลลาร์
"ดาโต๊ะ ซัง ทอย" กับนางแบบ (ภาพจาก: IG zangtoi)
โดยหลังมีข่าวออกมา ชาวเน็ตไม่น้อยบอกว่าช็อกเพราะเดิมอ่านหัวข้อข่าวผ่านๆ นึกว่าแบรนด์ Ralph Lauren ถูกก็อป แต่ที่จริงกลับเป็นตรงกันข้าม อย่างไรก็ตามเมื่อปี 1994 แบรนด์ Ralph Lauren เคยต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นเงินกว่า 11.5 ล้านบาท ฐานลอกชุดราตรีทักซิโดของแบรนด์ “อีฟส์ แซงต์ โลรองต์” (Yves Saint Laurent) มาแล้ว
และอย่างที่หลายคนทราบว่า “ดาโต๊ะ” นั้นคือบรรดาศักดิ์ของเครื่องราชย์ฯ มาเลเซีย ในชั้นอัศวิน ซึ่งหากเทียบกับเครื่องราชย์ฯ ของอังกฤษ ก็จะใช้คำนำหน้าชื่อเป็นท่านเซอร์ (Sir) นั่นเอง
ภาพจาก: AP
ภาพจาก: IG zangtoi