เลือกตั้ง 2566 50 องค์กร ระดมอาสาสมัคร รายงานผลเลือกตั้งแบบเรียลไทม์
เลือกตั้ง 2566 ผนึกกําลังเครือข่ายทุกภาคส่วนกว่า 50 องค์กร ระดมทุนเพื่อสนับสนุนอาสาสมัคร 100,000 คน รายงานผลคะแนนเลือกตั้งจากทุกหน่วยเลือกตั้ง 95,000 หน่วย แบบเรียลไทม์
วันที่ 21 มี.ค. ผนึกกําลังเครือข่ายทุกภาคส่วนกว่า 50 องค์กร ยกระดับแอปพลิเคชันรายงานผลคะแนนเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ครั้งแรกกับเทคโนโลยี Crowdfunding ระดมทุนเพื่อสนับสนุนอาสาสมัคร 100,000 คน รายงานผลคะแนนเลือกตั้งจากทุกหน่วยเลือกตั้ง 95,000 หน่วย แบบเรียลไทม์ เริ่มรายงานผลการนับคะแนนแต่ละหน่วยเลือกตั้งจากทุกเขต หลังปิดหีบเลือกตั้ง ประมาณ 17.15 น. เป็นต้นไป
โดยตั้งเป้าหมายในการทํางานอาสาสมัครร่วมกันของทุกเครือข่าย พยายามทุกวิถีทางให้ทราบแนวโน้มผลการนับคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการในเบื้องต้นรอบแรก ประมาณ 2 ชั่วโมง หลังปิดหีบเลือกตั้ง 17.00 น. คาดว่าในเวลาไม่เกิน 19.00 น. น่าจะทราบแนวโน้มสัดส่วนคะแนนแบบ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ของแต่ละพรรค และในเวลาไม่เกิน 21.00 น. น่าจะทราบแนวโน้มคะแนนเสียงของผู้สมัคร ส.ส.เขตที่มีคะแนนนําอันดับหนึ่งในทุกเขต 400 เขต
การเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 มีความสําคัญอย่างยิ่ง ในการกําหนดอนาคตประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศยกเลิกการใช้แอปพลิเคชันการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง (อย่างไม่เป็นทางการ) ไปใช้ระบบ ECT Report ที่ไม่ใช่แบบเรียลไทม์ ซึ่งจะเริ่มทราบผลการเลือกตั้งประมาณ 23.00 น. ส่งผลทําให้สื่อที่จะต้องรายงานผลการเลือกตั้งอย่างรวดเร็วและถูกต้อง เพื่อช่วยให้การเลือกตั้งเกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ได้รับเสียงเรียกร้องจากภาคส่วนต่างๆ ของสังคม ให้ช่วยกันหาทางออก ร่วมมือกันสร้างระบบการรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งจากหน้าคูหาเลือกตั้ง อย่างรวดเร็วแบบเรียลไทม์เช่นเดิม
ตลอดช่วงกว่า 2 เดือนที่ผ่านมา สื่อหลายๆ สํานัก โดย สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย), สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสื่ออิสระ รวมกว่า 34 สํานัก ได้ร่วมกันหารือกับองค์กรภาคประชาสังคม อาทิ สมาคมฟินเทค ประเทศไทย, สมาคมเมตาเวิร์สไทย, D-Vote, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw), Vote62, WeWatch, Opendream, CoFact และ ดร.ลอย ชุนพงษ์ทอง ฯลฯ ระดมสมองอย่างเข้มข้น หาแนวทางการทํางานในรูปแบบภาคีเครือข่าย และการใช้เทคโนโลยีในการระดมทุน ในรูปแบบ Crowdfunding, Crowdsourcing เพื่อช่วยกันระดมอาสาสมัครให้ได้ตามเป้าหมาย 100,000 คน ประจําทุกหน่วยเลือกตั้งประมาณ 95,000 หน่วยเลือกตั้ง ทั้งตรวจสอบ จับตา และรายงานผลคะแนนเลือกตั้งทันที เมื่อปิดหีบเลือกตั้งในเวลา 17.00 น. จนทําให้เกิดการพัฒนาอีกระดับของแอปพลิเคชันรายงานผลคะแนนเลือกตั้งแบบ Realtime และ Final Score ที่เคยนํามาทดสอบการใช้ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2565 มาแล้ว
ทีมงานเทคโนโลยีได้พัฒนาระบบเชื่อมต่อเครือข่ายอาสาสมัครจากหลายๆ องค์กรให้สามารถใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการมอบหมายหน้าที่อาสาสมัครในวันเลือกตั้ง ระหว่างการรายงานผลคะแนนแบบ Realtime และ Final Score รวมทั้งการถ่ายภาพกระดานนับคะแนน และใบรับรองผลการนับคะแนน ส.ส. 5/18 ในแต่ละหน่วย เพื่อส่งเข้ามาเก็บไว้ในระบบ Cloud และ Blockchain ให้สามารถตรวจสอบในภายหลังได้
คณะทํางานของสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ยังได้ออกแบบระบบการรับสมัครอาสาสมัคร และระบบการบริหารอาสาสมัครร่วมกันกับเครือข่ายต่างๆ เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มการระดมทุนแบบ Crowdfunding และ Crowdsourcing ที่ออกแบบโดย D-Vote ภายใต้การทํางานร่วมกับ สมาคมฟินเทค ประเทศไทย และ สมาคมเมตาเวิร์สไทย โดยหลักการการเปิดรับสมัครอาสาสมัครของแต่ละเครือข่ายและองค์กร ยังเป็นอิสระต่อกัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการประชาสัมพันธ์ไปตามภารกิจของแต่เครือข่าย ที่แต่ละองค์กรจะเห็นสมควร
การระดมทุน Crowdfunding ตั้งเป้าหมายเงินบริจาคจากผู้ต้องการสนับสนุนการเลือกตั้งและส่งเสริมประชาธิปไตย ไว้ประมาณ 12 ล้านบาท เพื่อนํามาใช้ในการพัฒนาระบบรายงานผลคะแนนเรียลไทม์ และระบบบริหารอาสาสมัครที่มีขนาดใหญ่มาก
ส่วน Crowdsourcing จะอยู่ในรูปแบบสิ่งของกับบริการต่างๆ ที่ได้จากผู้สนับสนุน เพื่อใช้เป็นการตอบแทนหรือ Reward ให้รางวัลกับผู้บริจาคและอาสาสมัครในการรายงานผลคะแนน ที่ตั้งเป้าหมายระดมอาสาสมัครไว้ 100,000 คน โดยจะส่งมอบในรูปแบบของ NFT หรือ Token ให้กับผู้บริจาคเงิน ผู้สนับสนุน และอาสาสมัครตั้งแต่เริ่มบริจาค หรือลงทะเบียนสมัครเข้ามาเป็นอาสา โดยจะขอเรียกรวมๆ ว่าเป็น "ดิจิทัลคูปอง" เพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายขึ้น ในการนําไปใช้แลกสินค้า หรือบริการส่วนลด ที่ผู้สนับสนุนแจ้งความจํานงเข้ามา ในระยะเวลาดําเนินโครงการหรือภายหลังได้ ปฏิบัติภารกิจรายงานผลคะแนนเลือกตั้งเสร็จแล้ว
ในส่วนการบริหารอาสาสมัครได้ออกแบบไว้ 3 ระดับ เพื่อให้การรายงานผลคะแนนเลือกตั้งเป็นไปอย่างครอบคลุมทุกหน่วยเลือกตั้ง และส่งคะแนนเข้าระบบประมวลผลในศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้งได้อย่างถูกต้องมากที่สุด
ระดับที่ 1 อาสาสมัครประจําหน่วยเลือกตั้ง 400 เขต ที่มีหน่วยเลือกตั้งรวมประมาณ 95,000 หน่วย ที่ตั้งเป้าจะมีอาสาสมัครประมาณ 100,000 คน ประจําทุกหน่วยเลือกตั้ง
อาสาสมัครหลักในระดับหน่วยเลือกตั้งในทุกๆ คูหา จะมาจาก สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดประเทศไทย, สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ สมาคมองค์การบริหารส่วนตําบลแห่งประเทศไทย ที่กระจายกันทุกจังหวัด ทุกเทศกาล และทุกตําบล ที่มีหน่วยเลือกตั้งในระดับหมู่บ้านมากกว่า 80,000-90,000 หมู่บ้าน
นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากพรรคการเมืองหลายพรรค ที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ทั้งนี้ เพราะพรรคการเมืองทุกพรรคมีอาสาสมัครของพรรค ประจําอยู่ในทุกหน่วยเลือกตั้งอยู่แล้ว พรรคที่ตอบรับเข้าร่วมโครงการนี้แล้วคือ พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาธิปัตย์, พรรคก้าวไกล, พรรคไทยสร้างไทย, พรรครวมไทยสร้างชาติ
โดยโครงการนี้ยังเปิดกว้างรับสมัครอาสาสมัครจากทุกพรรค ที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครประจําหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เพื่อช่วยกันทําให้การรายงานผลคะแนนเป็นไปอย่างรวดเร็ว และถูกต้องมากยิ่งขึ้น รวมทั้งอาสาสมัครอิสระภาคประชาชน จากภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันคือ iLaw, Vote62, WeWatch ฯลฯ และอาสาสมัครอิสระภาคประชาชนที่เป็นผู้สนใจ จะมีส่วนร่วมทางการเมือง ทํางานอาสาสมัครโครงการนี้ ที่สามารถสมัครโดยตรงกับภาคีเครือ ข่าย และผ่านช่องทางสื่อต่างๆ ได้ เพื่อให้แต่ละเขตเลือกตั้งที่มีหน่วยเลือกตั้งประมาณ 200-250 หน่วยเลือกตั้ง มีอาสาสมัครจากทุกภาคส่วน เข้าร่วมรายงานการนับคะแนนเลือกตั้งแต่ละเขตให้มากที่สุด
ส่วนในพื้นที่เลือกตั้งกรุงเทพมหานคร 33 เขต ทางกรุงเทพมหานครจะให้ความร่วมมืออํานวยความสะดวก ในการรายงานคะแนนเลือกตั้งจากเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร ประมาณ 6,500 คน ที่ประจําอยู่ในทุกคูหาเลือกตั้ง เพื่อให้ได้ผลคะแนนเลือกตั้งอย่างรวดเร็วและถูกต้อง
นอกจากนี้ ทางมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แสดงความจํานงเข้าร่วมเป็นอาสาสมัครประจําหน่วยเลือกตั้งด้วย โดยจะส่งอาสาสมัครประจําหน่วยเลือกตั้งในพื้นที่เขตเลือกตั้ง ใกล้มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษา หรือมัธยมปลายทั่วประเทศ มีความสนใจจะร่วมสนับสนุนโครงการนี้ ที่เป็นกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย ด้วยการให้นักศึกษาและนักเรียนมัธยมปลาย เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครประจําหน่วยเลือกตั้ง ยังสามารถแจ้งความจํานงมาได้ทุกจังหวัด
ระดับที่ 2 อาสาสมัครหัวหน้าเขตเลือกตั้ง 400 เขต และทีมงานที่จะมีการทํางานประสานงานกับสํานักงาน กกต.เขต และ กกต.จังหวัด ในการรับคะแนนที่เจ้าหน้าที่ กกต.เขตกรอกเข้าไปในระบบ ETC Report อาสาสมัครในระดับที่ 2 จะมีแนวทางการทํางานร่วมกับบุคลากรในระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนในพื้นที่ต่างๆ, มหาวิทยาลัยราชภัฏที่มีวิทยาเขตกระจายอยู่ทั่วประเทศ และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล โดยจะประชาสัมพันธ์ให้อาจารย์ เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และนักศึกษาของแต่ละสถาบัน เข้าร่วมโครงการฯ ในฐานะหัวหน้าเขต เพื่อบริหารอาสาสมัครใน 400 เขต
ระดับที่ 3 อาสาสมัครศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้ง (Election Day War Room)
วอร์รูมจะทําหน้าที่ในการรวมศูนย์การส่งคะแนนจากอาสาสมัคร 400 เขต เข้ามาจากอาสาสมัคร 100,000 คน เพื่อกลั่นกรองและตรวจสอบคะแนนให้ถูกต้องมากที่สุด ก่อนส่งเข้าระบบประมวลผลกลางของโครงการ ที่เชื่อมต่อไปยังสํานักข่าวต่างๆ ที่ร่วมโครงการประมาณ 34 สํานัก เพื่อเผยแพร่ออกทุกช่องทางของสื่อต่างๆ โดยกองบรรณาธิการแต่ละสื่อ สามารถตัดสินใจอย่างอิสระในการเลือกนําเสนอผลคะแนนเลือกตั้งในแต่ละเขต และแสดงผลคะแนนในรูปแบบกราฟฟิกต่างๆ ซึ่งถือเป็นการแข่งขันในการนําเสนอให้น่าสนใจ ตามแนวทางหรือสไตล์ของแต่ละสํานักข่าว บนฐานข้อมูลคะแนนเดียวกันที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว
ศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้ง (Election Day War Room) จะอยู่ภายใต้การบริหารงานของมหาวิทยาลัยศรีปทุม ที่มีประสบการณ์ในการรายงานผลคะแนนเลือกตั้งมาหลายครั้งแล้ว โดยมหาวิทยาลัยศรีปทุมจะลงทุนติดตั้งอุปกรณ์คอมพิวเตอร์อย่างน้อย 100 เครื่อง และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ในศูนย์ปฏิบัติการวันเลือกตั้งภายในมหาวิทยาลัยศรีปทุม
สรุปรายชื่อสื่อโทรทัศน์, สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ ที่แสดงความจํานงเข้าร่วมโครงการรายงานผลคะแนนเลือกตั้ง 2566 (อย่างไม่เป็นทางการ) โดยความร่วมมือและบริหารโครงการโดย 2 สมาคมหลัก คือ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์.