"AI พลิกเกม" อนาคตงานปี 2568 จุดเปลี่ยนตลาดแรงงานโลก l การตลาดเงินล้าน
"อนาคตงานปี 2568" รายงาน "เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม" มองว่า AI เป็นตัวแปรสำคัญที่จะเปลี่ยนโลกธุรกิจ และการทำงาน
"เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม" (WEF) เผยแพร่รายงาน "อนาคตงานปี 2568" (Future of Jobs Report 2025) ที่รวบรวมมุมมองของนายจ้างในบริษัทชั้นนำระดับโลกกว่า 1,000 แห่ง ใน 22 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 55 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก
โดยพบว่า มี 5 แนวโน้มสำคัญที่จะกำหนดและเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานโลก ระหว่างปี 2568-2573
ได้แก่
1.การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI)
2.ค่าครองชีพและเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
3.การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
4.การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรที่เกิดขึ้นทั่วโลก
และ 5.ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่จะเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจไปจากเดิม
รายงานระบุว่า ปี 2568 จะดำเนินไปท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในตลาดแรงงานทั่วโลก นับตั้งแต่วิกฤตโควิด ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ปัญหาด้านสภาพอากาศ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบมากขึ้นต่อการจ้างงานที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี แม้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะเริ่มทรงตัว แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 3.2 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกมีแนวโน้มอยู่แถวร้อยละ 3.5 ภายในสิ้นปีนี้ ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยในช่วง 2 ทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 21 อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพยังคงอยู่ในระดับสูงทั่วโลก
นายจ้างราวร้อยละ 60 คาดการณ์ว่าจะมีการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจมากกว่าแนวโน้มอื่น ๆ และในบรรดาเทคโนโลยีหลัก 9 ด้าน มี 3 ด้านที่คาดว่าจะส่งผลต่อธุรกิจมากที่สุดภายในปี 2573 ได้แก่
เทคโนโลยี AI และการประมวลผลข้อมูล โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามให้น้ำหนักเรื่องนี้มากถึงร้อยละ 86 โดยเฉพาะ AI แบบรู้สร้าง (Generative AI) ที่มีการลงทุนและใช้งานมากขึ้นในภาคส่วนต่าง ๆ นับตั้งแต่เปิดตัว "แชตจีพีที" (ChatGPT) ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 และการลงทุนเกี่ยวกับบ AI เพิ่มขึ้นเกือบ 8 เท่า
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีความเสี่ยงหากใช้โดยไม่รู้หรือทำให้ AI มาแทนที่มนุษย์ โดยนายจ้างราวร้อยละ 41 หรือ 2 ใน 5 มีแผนจะลดจำนวนพนักงาน เนื่องจาก AI สามารถควบคุมงานบางอย่างได้อัตโนมัติ แม้ว่านายจ้างส่วนใหญ่จะวางแผนจ้างแรงงานที่มีทักษะด้าน AI มากขึ้น
มาดูตำแหน่งงานดาวรุ่ง 5 อันดับ ที่จะมีความต้องการมากที่สุดในช่วงระหว่างปี 2568-2573 ได้แก่
ผู้เชี่ยวชาญด้านบิ๊กดาต้า
ตามด้วยวิศวกรเทคโนโลยีการเงิน (ฟินเทค)
ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และการเรียนรู้ของเครื่องจักร
นักพัฒนาแอปพลิเคชันและซอฟต์แวร์
และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการความปลอดภัย
นอกจากนี้ ตำแหน่งงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไร้คนขับและ EV วิศวกรด้านสิ่งแวดล้อม และวิศวกรด้านพลังงานหมุนเวียน ก็อยู่ในตำแหน่งงานที่มีการเติบโตเร็วที่สุดเช่นกัน
ส่วนตำแหน่งงานดาวร่วง 5 อันดับ ในช่วงเวลาเดียวกัน ได้แก่ เสมียนไปรษณีย์ เจ้าหน้าที่ธนาคารและงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่คีย์ข้อมูล แคชเชียร์และคนขายตั๋ว และผู้ช่วยธุรการและเลขานุการ
กรณีของไทย รายงาน "เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม" (WEF) ระบุว่า ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องหลักสำหรับธุรกิจที่ดำเนินงานในไทย โดยราวร้อยละ 73 ของผู้ตอบแบบสอบถามคาดว่าเศรษฐกิจที่โตชะลอตัวจะกระทบกับธุรกิจของพวกเขาในระหว่างนี้จนถึงปี 2573 มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่กังวลเรื่องนี้ราวร้อยละ 42
ขณะเดียวกันก็ยังมีเรื่องเงินเฟ้อที่สูงขึ้นและความพยายามลดโลกร้อนเป็นปัจจัยท้าทาย อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามราวร้อยละ 62 ยอมรับว่าประสบปัญหาในการดึงบุคลากรเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมของตน และร้อยละ 46 ประสบปัญหาในการชักชวนบุคลากรเข้าทำงานกับบริษัทของตน นายจ้างในไทยกำลังวางแผนใช้ประโยชน์จากโปรแกรมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการไม่แบ่งแยก รวมทั้งสนับสนุนเรื่องการดูแลเด็กให้กับพ่อแม่ที่ต้องทำงานมากขึ้น
ข่าวแนะนำ