TNN ตลาดคลินิกมีบุตรยากไทยโตพุ่ง คาดปี 68 มูลค่า 6.3 พันล้าน l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

ตลาดคลินิกมีบุตรยากไทยโตพุ่ง คาดปี 68 มูลค่า 6.3 พันล้าน l การตลาดเงินล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผยว่า ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยในปี 2568 คาดเติบโตร้อยละ 6.2 จากปี 2567 โดยมีมูลค่ากว่า 6.3 พันล้านบาท

ปี 2568 มูลค่าตลาดผู้รับบริการชาวไทย คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.0 จากค่านิยมมีบุตรช้าลง และปัญหาด้านการเจริญพันธุ์ที่มีความซับซ้อน และมีสาเหตุมาจากเพศชายมากขึ้น ทำให้ต้องพึ่งพาวิธีการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ขณะที่ มูลค่าตลาดผู้รับบริการชาวต่างชาติ คาดว่าจะขยายตัว 7.6% โดยมีแรงหนุนจากราคาและคุณภาพบริการที่ยังโดดเด่น รวมถึงการขยายตลาดใหม่ของธุรกิจ 

โอกาสของธุรกิจบริการรักษาภาวะมีบุตรยากในระยะข้างหน้า

1.การผ่อนปรนนโยบายมีบุตรของรัฐบาลจีน จาก 2 คน มาเป็น 3 คน ตั้งแต่ปี 2564 ตามปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยของจีนที่รุนแรงขึ้น รวมถึงแนวโน้มประชากรจีนที่ยังคงลดลงตั้งแต่ปี 2565 ทำให้คาดว่ารัฐบาลจีนจะยังใช้นโยบายนี้ในระยะกลาง-ยาว ส่งผลให้ไทยที่เป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของการเดินทางมารับบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของชาวจีน น่าจะได้อานิสงส์ต่อเนื่องจากการบริการภายในประเทศจีนยังไม่เพียงพอรองรับความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น 

2.การเตรียมปรับกฎหมายอุ้มบุญของไทย เช่น การยอมให้ญาติสืบสายโลหิตของภรรยาอายุตั้งแต่ 20-40 ปี สามารถบริจาคไข่ได้ โดยไม่ต้องผ่านการสมรส และการยอมให้ภรรยาอายุ 55 ปีขึ้นไป สามารถรับบริการอุ้มบุญได้ ซึ่งหากมีการปรับแก้สำเร็จ คาดว่าจะมีส่วนหนุนให้การบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ของตลาดคนไทยเติบโตได้เพิ่มมากขึ้น แต่ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามรายละเอียดของการปรับกฎหมายดังกล่าวว่าจะสามารถเอื้อต่อตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากมากน้อยอย่างไร

3.การบังคับใช้ พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียม ในปี 2568 ทำให้ต้องมีการปรับแก้กฎหมายลูกต่าง ๆ ให้สอดรับกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยเฉพาะการยอมให้คู่สมรสเพศเดียวกันมีบุตรได้ผ่านการใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยให้เปิดกว้างมากขึ้น ครอบคลุมไปถึงกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ที่ปัจจุบันในไทยมีอยู่ราว 5.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 9 ของจำนวนประชากรไทยทั้งหมด และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า

4.เทรนด์มีลูกเมื่อพร้อม ดันบริการแช่แข็ง/ฝากไข่เติบโตทั่วโลก สะท้อนจากมูลค่าตลาดบริการแช่แข็ง/ฝากไข่ของโลกที่คาดว่าจะโตเฉลี่ยร้อยละ 8 ต่อปี (CAGR 2566-2571) สูงกว่าอัตราการเติบโตของบริการอื่น ๆ ในตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก ทำให้ไทยอาจแข่งขันในตลาด Fertility Tourism ได้มากขึ้นจากกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเข้มงวดน้อยกว่าบางคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์ กำหนดช่วงอายุสตรีที่รับบริการได้อยู่ระหว่าง 21-37 ปี และมาเลเซียกำหนดให้สตรีโสดที่จะแช่แข็ง/ฝากไข่ได้ต้องไม่ใช่ชาวมุสลิม เป็นต้น 

ขณะที่ความเสี่ยงของธุรกิจบริการรักษาภาวะมีบุตรยาก

1.การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล จากเป็นที่ตั้งของสถานพยาบาลกว่าร้อยละ 70 ของผู้ให้บริการทั้งหมด อย่างไรก็ดี รายได้ของธุรกิจยังขึ้นอยู่กับมาตรฐานและอัตราความสำเร็จเป็นสำคัญ ส่งผลให้ธุรกิจจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพการบริการ และต้องมีการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จ เพื่อรักษารายได้และอัตรากำไรในระยะยาว

2.จำนวนบุคลากรที่มีความชำนาญเฉพาะด้านการรักษาภาวะมีบุตรยากมีจำกัด โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์การเพาะเลี้ยงตัวอ่อน จากยังไม่มีหลักสูตรอุดมศึกษาในไทยที่เปิดสอนด้านนี้โดยตรง ส่งผลให้ธุรกิจต้องมีการวางแผนกำลังคน จัดฝึกอบรมนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกำหนดนโยบายค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงจากการขาดแคลน/ย้ายงานของบุคลากรดังกล่าวในอนาคต

3.การเปลี่ยนแปลงมาตรการอุดหนุนการรักษาภาวะมีบุตรยากในประเทศของคนไข้ต่างชาติ เช่น ปัจจุบันรัฐบาลจีนมีการอุดหนุนการทำ IVF ผ่านระบบประกันสุขภาพใน 4 เมือง และไปข้างหน้าก็มีความเป็นไปได้ที่จะขยายเพิ่มอีก ทำให้อาจมีผลต่อการตัดสินใจมารับบริการในไทย นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่อาจส่งผลต่ออัตราความสำเร็จและรูปแบบการให้บริการของธุรกิจ

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง