TNN ธุรกิจตื่น! มุ่งลงทุน AI นับแสนล้านดอลลาร์ l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

ธุรกิจตื่น! มุ่งลงทุน AI นับแสนล้านดอลลาร์ l การตลาดเงินล้าน

แนวโน้มการปรับใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ในองค์กรธุรกิจ มีเพิ่มมากขึ้น คาดการณ์การลงทุนด้านนี้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก สูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

บริษัทวิจัยตลาด ไอดีซี (IDC) รายงานว่า องค์กรต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งรวมถึงจีน และญี่ปุ่น ด้วยนั้น กำลังเติบโตอย่างน่าทึ่งในการนำเทคโนโลยี เอไอ และ เจเนอเรทีฟ เอไอ (หรือ เอไอ เชิงสร้างสรรค์) มาใช้ รวมถึงซอฟต์แวร์ บริการ และฮาร์ดแวร์ที่ออกแบบมาสำหรับระบบที่ขับเคลื่อนด้วย เอไอ 

ทั้งคาดการณ์ว่า ภายในปี 2028 (พ.ศ.2571) ในภูมิภาคนี้ จะมีการลงทุนด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สูงถึง 110,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการเติบโตแบบทบต้น อยู่ที่ร้อยละ 24 ตั้งแต่ปี 2023 ไปจนถึงปี 2028 ซึ่งจะทำให้ เอเชียแปซิฟิก กลายเป็นผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยี เอไอ 

แนวโน้มการเติบโตดังกล่าว มาจากการที่ องค์กรต่าง ๆ เปลี่ยนจากการทดลองใช้ เอไอ เชิงสร้างสรรค์ ไปสู่การใช้งานในระดับองค์กรที่มากขึ้น จึงมุ่งเน้นไปในเรื่องการกำกับดูแลที่ครอบคลุม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภายในและภายนอก และการที่ องค์กรธุรกิจกำลังใช้ประโยชน์จาก เอไอ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเสริมสร้างประสบการณ์ลูกค้า ก็จะช่วยเปิดประตูไปสู่โอกาสใหม่ ๆ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคอย่างรวดเร็ว

ก่อนหน้านี้ ยังมีผลสำรวจของ ไอดีซี ดาตา (IDC Data) และ เอไอ พัลส์ (AI Pulse) เอเชีย แปซิฟิก 2024 ที่พบว่า องค์กรต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ต่างเร่งการลงทุนด้าน เอไอ โดยในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ร้อยละ 42 ขององค์กรธุรกิจ วางแผนเพิ่มการลงทุนด้าน เอไอ อย่างก้าวกระโดด

โดย กลุ่มที่มองว่าธุรกิจของตนเองเป็นผู้นำด้าน เอไอ มองว่า การริเริ่มใช้ เอไอ จะช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจในหลายด้าน ซึ่งจะมองไปที่ผลในระยะยาว ได้แก่ การช่วยผลักดันรายได้ให้เติบโต, การช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการช่วยเพิ่มผลกำไร

ส่วนกลุ่มที่มองว่าองค์กรของตนยังเป็นผู้ตาม นั้น จะมุ่งเน้นการนำ เอไอ มาใช้งานในด้านการบริหาร และการดำเนินงานเฉพาะจุดของธุรกิจ หรือมุ่งไปที่ประโนชน์ระยะสั้น ได้แก่ การช่วยปรับปรุงการบริการลูกค้า, ช่วยขยายส่วนแบ่งตลาด และช่วยเร่งระยะเวลาในการนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด เป็นต้น 

สำหรับองค์กรธุรกิจไทย ข้อมูลจากงาน DAAT 2024 จัดโดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล พบว่า ภาคธุรกิจไทยมีแนวโน้มการนำ เอไอ มาใช้ในหลาย ๆ ด้านมากขึ้น และพบว่า ความสนใจที่จะนำเครื่องมือ เอไอ มาใช้ เติบโตขึ้นเป็นร้อยละ 64 ซึ่งสูงขึ้นกว่าปี 2023 ที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 27

ความคาดหวังในการใช้ เอไอ ของธุรกิจจะแตกต่างกันระหว่าง ธุรกิจขนาดเอสเอ็มอี และธุรกิจรายใหญ่

ซึ่งเป้าหมายหลัก ของเอสเอ็มอี จะอยู่ที่การ เพิ่มยอดขาย ลดต้นทุน ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่ ต้องการมุ่งขยายธุรกิจในเชิงกลยุทธ์ และนวัตกรรม

ทำให้มีการใช้ เอไอ ที่แตกต่างกัน ซึ่งเอสเอ็มอี จะเน้นการตลาดอัตโนมัติ ซีอาร์เอ็ม และ แชทบอต  ส่วนธุรกิจรายใหญ่ จะใช้ประเภท บิ๊ก ดาตา และ ไฮเปอร์-เพอร์ซัลนอลไลซ์ด์ เอไอ 

เมื่อดูในเรื่องของงบประมาณ ธุรกิจเอสเอ็มอี ยังคงเน้นการใช้ Software as a Serviceและราคาประหยัด ส่วนองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ จะมุ่งลงทุนในโซลูชันแบบเฉพาะบุคคล ซึ่งจะใช้งบประมาณที่สูงขึ้น

ส่วนรูปแบบการปรับใช้และการบูรณาการนั้น ธุรกิจรายเล็ก จะเน้นติดตั้งง่ายและใช้งานได้ทันที ส่วนรายใหญ่ มุ่งพัฒนาเฉพาะด้านและบูรณาการที่ซับซ้อนมากขึ้น

ด้านคุณ วรินทร์ ทินประภา Chief Growth Officer บริษัท มีเดียอินเทลลิเจนซ์กรุ๊ป จำกัด หรือ MI GROUP ให้ความเห็นว่า เอสเอ็มอี จะใช้ เอไอ ในด้านการตลาดเพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มยอดขาย และลดต้นทุนอย่างคุ้มค่า ส่วนรายใหญ่นั้น จะใช้ เอไอ อย่างครอบคลุมในทุกกระบวนการ คือตั้งแต่การวางแผนกลยุทธ์ ไปจนถึงการพัฒนาและนวัตกรรม เพื่อให้ได้เปรียบทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

เธอบอกด้วยว่า ในมุมของการสื่อสารการตลาดในปัจจุบัน คาดว่า ปีนี้ ภาคธุรกิจในประเทศจะมีการปรับใช้ เอไอ กันอย่างเข้มข้นมากขึ้น โดยไม่เชื่อว่า เอไอ จะเข้าไปแทนที่คนทำงานแบบหนึ่งต่อเนื่อง แต่จะทดแทนในบางทักษะการทำงาน และช่วยลดสัดส่วนงานของคนได้ 

สำหรับ บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในองค์กรธุรกิจกลุ่มแฟชัน ที่มีการปรับใช้ เอไอ ตั้งแต่ต้นน้ำไป จนถึงปลายน้ำ

คุณ ดวงดาว มหะนาวานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซาบีน่า กล่าวว่า ซาบีน่า ได้เริ่มนำ เอไอ เข้ามาเรียนรู้ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว โดยไม่ได้นำมาใช้เพื่อทดแทนคน แต่ใช้เพื่อเพิ่มทางเลือกและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และสำหรับแผนในปี 2568 นี้ ก็จะปรับใช้ เอไอ อย่างเข้มข้นมากขึ้นอีก

อย่างไรก็ตาม การใช้ เอไอ ช่วงแรก ๆ คุณดวงดาว บอกว่า พนักงานมีความกังวลเหมือนกันว่า เอไอ จะเข้ามาแทนที่ตัวเอง ดังนั้น สิ่งที่ต้องสื่อสารอย่างแรก ๆ คือการให้พวกเขาได้เข้าใจ ผ่านการเรียนรู้ และหลังจากการเรียนรู้ ใช้เครื่องมือ เอไอ เป็นแล้ว ก็เข้าใจได้ว่า เอไอ จะมาช่วยให้การทำงานมีคุณภาพดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าตอนนี้ พนักงานเปลี่ยนความคิดนั้นไปแล้ว แต่กลับเป็นว่า คนที่ไม่เรียนรู้ เอไอ ก็อาจจะต้องกังวลว่า ตนเองอาจจะถูกแทนที่ด้วยคนที่ใช้ เอไอ เป็น หรือไม่

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง