TNN ไทยมุ่งเป้าใช้แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า 10 เท่า

TNN

เศรษฐกิจ

ไทยมุ่งเป้าใช้แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า 10 เท่า

ถ้าดูจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย ที่ให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ ตรงนี้น่าจะสนับสนุนตลาดโซลาร์เซลล์ในไทยเติบโตขึ้น

ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) ประจำปี 2567 ระบุว่า พลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 51 ของการใช้พลังงานทั้งหมดในประเทศภายในปี 2580 โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 ในปี 2566

การเดินหน้าสู่พลังงานสะอาดดังกล่าวนี้จะทำให้พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนสำคัญภายใต้แผน PDP ฉบับใหม่ โดยภาคเอกชนคาดหวังว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มอีก 10 เท่าในอีก 12 ปีข้างหน้า โดยในปี 2567 ผลิตได้เพียง 3,193 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 33,269 เมกะวัตต์ ได้ภายในปี 2580 

กระทรวงพลังงานของไทยยังมีแผนที่จะเปิดตลาดพลังงานให้กว้างขึ้น โดยอนุญาตให้มีการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป)

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีที หรือ ttb analytics ประเมินตลาดโซลาร์รูฟท็อปในไทยยังเติบโตต่อเนื่อง จากค่าไฟแพงตลอด 3 ปี ทำให้คนไทยและธุรกิจหันมาที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาผลิตไฟฟ้ามากขึ้น 

ttb analytics ประเมินมูลค่าตลาดโซลาร์รูฟท็อปในไทยจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี  นับตั้งแต่ปี 2565-2568 โดยคาดว่าจะมีมูลค่าแตะ 67,000 ล้านบาทในปี 2568 ซึ่งมาจากค่าแผงโซลาร์เซลล์ และค่าติดตั้งที่ปรับลดลงจนทำให้ระยะเวลาคืนทุนเร็วขึ้นจากเดิมที่คืนทุนในเวลา 9-12 ปี เป็น 6-8 ปีในปัจจุบัน 

 

มีการประเมินจาก บริษัท ทรินา โซลาร์ เอเชียแปซิฟิก ถึงแนวโน้มด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่น่าจับตาในปี 2568 พบว่ามีอยู่ 5 ประการคือ

1. แผงโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูง พบว่าเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีต้นทุนลดลง โดยเทคโนโลยีโซลาร์ TOPCon จะยังคงเป็นตัวเลือกระดับแนวหน้าในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์อย่างน้อยในอีก 5 ปีข้างหน้า เพราะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นในการเติมช่องว่างของตลาดด้วยประสิทธิภาพที่สูงกว่า สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทั้งสองด้าน (bifacial) ทำให้ผลิตพลังงานได้มากขึ้น

2. พลังงานแสงอาทิตย์และการกักเก็บพลังงานเติบโต โดยคาดว่าตั้งแต่ปี 2566 ถึง 2573 ตลาดการกักเก็บพลังงานทั่วโลกจะเติบโตที่อัตราเฉลี่ยร้อยละ 21 ต่อปี ตรงนี้เป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เช่น การเปลี่ยนจากแบตเตอรี่ NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) มาเป็นแบตเตอรี่ LFP (Lithium Iron Phosphate) ซึ่งให้ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นด้วยต้นทุนที่ต่ำลง โดยพบว่าความต้องการแบตเตอรี่ LFP สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย จีน ไทย และญี่ปุ่น และรายงานจาก Mordor Intelligence ระบุว่า ตลาดแบตเตอรี่ LFP ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีมูลค่าประมาณ 46,820 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 และคาดว่าจะแตะระดับ 60,940 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2572 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) มากกว่าร้อยละ 5 

3. ระบบโซลาร์เซลล์ไฮบริดเป็นที่น่าสนใจสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ ในขณะที่มีความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น โรงไฟฟ้าก็มีตัวเลือกมากขึ้นในการจัดการกับพลังงานหมุนเวียน ช่วยให้โรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจพาณิชย์สามารถผสานระบบผลิตไฟฟ้าจากหลายแหล่งพลังงานไว้ได้ในระบบเดียว

โรงไฟฟ้าหรือผู้ใช้พลังงานรายใหญ่สามารถติดตั้งฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนพื้นดินควบคู่ไปกับชนิดลอยน้ำ หรือผสานโรงไฟฟ้าพลังน้ำเข้ากับฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำ แล้วใช้งานร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน โดยระบบเหล่านี้สามารถเพิ่มและจัดการประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้สูงสุด ทำให้มีการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าและช่วยลดต้นทุนได้

ถ้าดูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วแต่มีพื้นที่จำกัด ฟาร์มโซลาร์เซลล์ชนิดลอยน้ำจึงเป็นทางออกที่น่าสนใจ 

4. อะกริวอลทาอิกส์ (Agrivoltaics) หรือการใช้โซลาร์เซลล์ที่ได้ประโยชน์สองทาง หมายถึง การทำการเกษตรควบคู่กับโซลาร์ฟาร์ม เช่น การปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ หรือการสร้างแหล่งที่อยู่ให้แมลงผสมเกสรเอาไว้ใต้หรือใกล้แผงโซลาร์เซลล์

การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในภาคเกษตรกรรมยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น เช่น โครงการโรงเรือนพลังงานแสงอาทิตย์กึ่งโปร่งแสงสำหรับเกษตรอัจฉริยะที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยโครงการนี้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานหลักในการกักเก็บน้ำใต้ดินและการใช้พัดลมระบายอากาศในโรงเรือน ตลอดจนอุปกรณ์ IoT ต่างๆ ที่ใช้ในการควบคุมการทำงาน

ส่วนในระดับโลกนั้น การทำการเกษตรร่วมกับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็เป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายพื้นที่ เช่น โซลาร์ฟาร์มในไร่มันฝรั่งที่ประเทศญี่ปุ่น ฟาร์มแกะที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในนิวซีแลนด์ การทำประมงควบคู่กับโซลาร์ฟาร์มในจีน

 5. การประยุกต์ใช้แผงโซลาร์เซลล์เชิงสร้างสรรค์ โดยปัจจุบัน เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์แบบโค้งหรือชนิดฟิล์มบาง (Thin-Film) ทำให้สามารถดัด ม้วน หรือออกแบบแผงให้มีรูปทรงโค้งได้ จึงเปิดโอกาสให้วิศวกรและศิลปินสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านประโยชน์ใช้สอยและความสวยงาม แผงโซลาร์เซลล์ที่ยืดหยุ่นซึ่งทำจากวัสดุ PV หรือแผ่นฟิล์มบางนั้นมีน้ำหนักเบาและใช้งานได้หลากหลาย เช่น สามารถนำไปติดตั้งบนหลังคา ยานพาหนะ หรือแก็ดเจ็ตที่สวมใส่กับร่างกาย

แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็ถือเป็นแนวทางที่ช่วยขยายขอบเขตจินตนาการและทำให้พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง