ค่าไฟ 3.70 บาทท้าทายรัฐเร่งลดหนุนเศรษฐกิจ
เรื่องค่าไฟแพงกลายเป็นประเด็นที่ภาคเอกชน และประชาชนเรียกร้องมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ราคาค่าไฟของไทยเกินกว่า 4 บาทต่อหน่วย แต่ที่ผ่านมาค่าไฟยังไม่สามารถลดลงได้มากนัก เพราะต้นทุนยังสูง ล่าสุดการปรับลดค่าไฟอีกครั้งไปติดตามว่าครั้งนี้มีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน
มีการพูดถึงการลดค่าไฟจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่กล่าวปราศรัยใน จ.เชียงราย ว่า “มีแนวทางที่จะปรับลดเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย” โดยเป็นการปรับลดจากการรีดไขมัน และเรื่องนี้นายกฯ แพรทองธารก็ดูแล้ว และจะเรียกทุกคนประชุมให้ทุกคนเต็มใจยอมรับกับการรีดไขมันครั้งนี้ เรื่องนี้ทุกฝ่ายรวมถึงภาคเอกชนต้องช่วยกัน
ทางอดีตนายกฯ ทักษิณ หารือกับพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานแล้ว และยืนยันว่าเรื่องการลดค่าไฟไม่เกี่ยวข้องกับการปรับครม.
ค่าไฟถ้าลดเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย ถือว่าปรับลดลงมาก “จากขณะนี้ค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2568 อยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย” ซึ่งก็ปรับลดลงแล้วจากก่อนหน้านี้อยู่ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย
ด้านนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ถึงความเป็นไปได้การลดค่าไฟ ว่า การปรับลดค่าไฟเป็นสิ่งที่รัฐบาลเน้นย้ำอยู่แล้วว่าจะต้องลดค่าไฟให้ถูกลง ถ้าค่าไฟลดลง ค่าของชีพของประชาชนจะลดลง ความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลกก็จะลดลง เพราะต้นทุนการผลิตลดลง และเกิดประโยชน์กับประเทศ
นายกฯ ระบุว่า ตัวเลข 3.70 บาทต่อหน่วยนั้น เป็นตัวเลขเป้าหมาย ที่อยากจะทำให้ได้ ต้อองหารือตกลงกับหลายฝ่าย โดยเรื่องลดค่าไฟถือเป็นเรื่องแรกๆ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญในปีนี้
คนในแวดวงพลังงาน ให้ความเห็นถึง แนวทางการลดค่าไฟลงเหลือ 3.70 บาทว่า สิ่งที่ทำได้ในระยะเวลาอันสั้น คือ ให้การไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตหรือกฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือกฟภ. และการไฟฟ้านครหลวง หรือกฟน. ลด ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งค่าสายส่งและค่าระบบจำหน่ายที่มีความซ้ำซ้อน และอีกประเด็นคือ รัฐบาลอาจอุดหนุนงบประมาณเหมือนที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือประชาชนบางกลุ่ม
ส่วนในระยะต่อไป ต้องเร่งเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ให้ลดค่าพร้อมจ่ายสำหรับกระแสไฟฟ้าที่สำรองไว้ ซึ่งปัจจุบันรวมอยู่ในค่าไฟฟ้า 80 สตางค์ต่อหน่วย และค่าความพร้อมจ่ายก็ระบุไว้ในสัญญาการรับซื้อไฟฟ้า
อีกประเด็นต้องพิจารณาคือ ค่าไฟพลังงานหมุนเวียน เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่รัฐรับซื้อกว่า 2 บาทต่อหน่วย ส่วนไฟฟ้าพลังงานลมกว่า 3 บาทต่อหน่วย แต่รับซื้อจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่บางสัญญาสูงถึง 4 บาทต่อหน่วย ดังนั้นอาจต้องมาพิจารณาทั้งระบบกันใหม่
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากผู้ผลิตไฟฟ้า ขอให้ภาครัฐต้องปรับลดภาษีปิโตรเลียมลง เพื่อให้ต้นทุนราคาก๊าซฯ ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดลง จากปัจจุบันกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง มีการจัดเก็บภาษีระบบสัมปทานอยู่ที่ร้อยละ 50 ส่วนสัญญาปิโตรเลียมก่อนปี 2512 เก็บอยู่ที่ร้อยละ 34, ส่วนสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย อยู่ที่ ร้อยละ 10-20 และระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม (PSC) อยู่ที่ร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิ ภาษีถือเป็นหนึ่งต้นทุนของการคิดค่าก๊าซฯ ถ้ามีการลดภาษีดังกล่าวลง โดยมีเงื่อนไขว่าต้องปรับลดราคาก๊าซฯ ในประเทศสำหรับการผลิตไฟฟ้าลง ก็น่าจะช่วยทำให้ค่าไฟลดลงได้
ถ้าไปดูสถิติค่าไฟของไทยย้อนหลัง พบว่าค่าไฟปรับขึ้นสูงกว่า 4 บาทมานานกว่า 3 ปี
เมื่อปี 2560 ราคาอยู่ที่ 3.60 บาท/หน่วย
ปี 2563 อยู่ที่ 3.63 บาท/หน่วย
ปี 2565 อยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย
ปี 2566 อยู่ที่ 4.70 บาท/หน่วย
ปี 2567 อยู่ที่ลดลงมาอยู่ที่ 4.18 บาท/หน่วย
ถ้าไปดูรายละเอียดค่าไฟฟ้าที่เราจ่ายในขณะนี้ พบว่าไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ก่อนหน้านี้กระทรวงพลังงานปรับขึ้นค่าไฟน้อยกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้น ทำให้ยังมีหนี้คงค้างค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ.และปตท. รวมถึงหนี้จากการตรึงค่าไฟประมาณ 1 แสนล้านบาท คงต้องทยอยคืนในค่าไฟงวดถัดๆ ไป คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี หนี้ดังกล่าวจึงจะหมด แต่ถ้าต้องการจ่ายงวดเดียวหมดต้องปรับขึ้นค่าไฟ 1.54 บาทต่อหน่วย (หนึ่งบาทห้าสิบสี่สตางค์) จะทำให้ค่าไฟปรับขึ้นไปกว่า 5 บาทต่อหน่วย คิดว่ารัฐบาลคงไม่กล้าปรับขึ้นราคาขนาดนั้น น่าจะทยอยใช้คืนครั้งละ 10-50 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน และภาคธุรกิจ
ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมิน ค่าไฟฟ้าปี 2568 คาดว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงปี 2567 ที่ 4.10-4.20 บาท/หน่วย ตรงนี้ประเมินจากต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศ (Pool gas) อยู่ในช่วง 310-320 บาทต่อล้านบีทียู และภาครัฐสามารถทยอยคืนต้นทุนค้างชำระ แก่ กฟผ. และ ปตท. ได้ที่ 5-20 สตางค์ต่อหน่วย
ส่วนในปี 2569-2571 คาดว่าค่าไฟฟ้าจะทยอยลดลงและต่ำกว่า 4 บาท/หน่วย จากราคาก๊าซธรรมชาติโลกที่คาดว่าจะปรับลดลง โดยการผลิตไฟฟ้าของไทยยังคงใช้พลังงานฟอสซิลคือก๊าซฯ และน้ำมัน ซึ่งจะมีแรงกดดันที่มากขึ้นจากการลดสัดส่วนการผลิตในระยะยาวตามร่างแผน PDP 2567 ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของโรงไฟฟ้าในกลุ่มที่ใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่มีประสิทธิภาพการผลิตต่ำหรือมีการปล่อย GHG สูง และจะมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากการนำเชื้อเพลิงสะอาดทดแทนอย่างไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำเข้ามาเป็นเชื้อเพลิง
ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) พยายามเรียกร้องให้ลดค่าไฟลง เพราะค่าไฟไทยนั้นแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ค่าไฟที่แพงกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย สินค้าที่ผลิตมีต้นทุนแพงกว่าเมื่อต้นทุนแพงต้องขายในราคาแพงจึงขายได้ยากกว่า
นอกจากนี้การที่ค่าไฟไทยแพงจะมีผลต่อการตัดสินใจมากลงทุนไทยของต่างชาติ เพราะในการลงทุนแต่ละโครงการต้องมีการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียในแต่ละด้าน ค่าไฟถือเป็นต้นทุนหนึ่งที่ธุรกิจต้องนำมาประเมินด้วย
ถ้าไปดูราคาค่าไฟของไทยเปรียบเทียบเพื่อนบ้านล่าสุด ของไทยที่อยู่ 4.15 บาทต่อหน่วย ยังแพงว่าเมียนมาที่ค่าไฟอยู่ที่ 2.87 บาทต่อหน่วย / เวียดนาม 2.69 บาทต่อหน่วย /อินโดนีเซีย 2.59 บาทต่อหน่วย และสปป.ลาวมีราคาเพียง 92 สตางค์ต่อหน่วยโดยราคาค่าไฟของไทย ถูกว่า สิงโปร์ที่อยู่ 12.30 บาทต่อหน่วย / กัมพูชา 5.53 บาทต่อหน่วย /ฟิลิปปินส์ 5.11 บาทต่อหน่วย และมาเลเซีย 4.45 บาทต่อหน่วย
มีความเห็นจาก สนั่น อังอุบลกุล ประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ว่า ถ้ารัฐบาลสามารถลดค่าไฟได้จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจ เพราะค่าไฟเป็นหนึ่งในต้นทุนที่ภาคธุรกิจต้องรับมือ ค่าไฟที่สูงกระทบต่อภาคธุรกิจพอสมควร โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการ
ถ้ามีการปรับลดค่าไฟเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วยได้ น่าจะทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจและประชาชนลดลงไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ประมาณร้อยละ 0.5 เพราะเงินค่าไฟที่ประหยัดได้จะหมุนเวียนไปในระบบเศรษฐกิจทั้งการจ้างงาน และการลงทุน
ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คงหนีไม่พ้นผลิตไฟฟ้าเอกชน โดย บล.เอเซียพลัส มีการประเมินถึงการลดค่าไฟฟ้าที่รัฐบาลจะดำเนินการได้มี 4 แนวทาง และจะมีผลกระทบต่อผู้ผลิตไฟฟ้าต่างกัน ประกอบด้วย
1.ไม่ต่อสัญญาสัญญาส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ปี 2568 ที่จะหมดอายุของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน จากโครงสร้างค่าไฟฟ้าปัจจุบันอยู่ที่ราว 4.15 บาท/หน่วย พบว่ามีต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่าย ADDER ราว 15 สตางค์/หน่วย ดังนั้นการไม่ต่ออายุสัญญาซื้อจะช่วยลดค่าไฟลงได้บ้าง แต่การดำเนินการในส่วนนี้จะมีผลต่อผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่มีสัญญาซื้อขายไฟในรูปแบบ ADDER หลายราย
2.ขยายเวลาจ่ายคืนค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ FT ที่นำไปคืนหนี้ให้ กฟผ. โดยพบว่าภาระหนี้คงค้าง กฟผ.ปัจจุบันเรียกเก็บที่ 20 สตางค์/หน่วยเท่านั้น ถือว่าไม่มากถ้าเทียบกับหนี้ทั้งหมด
3.ขยายเวลาชำระคืนค่าก๊าซฯให้ ปตท. และ กฟผ. โดยพบว่าขณะนี้ยังไม่มีการเรียกเก็บต้นทุนก๊าซฯ คงค้างคืนให้ ปตท.ดังนั้นแม้ไม่มีการเก็บเงินชดเชยคืนหนี้ ทำให้ค่าไฟลดลงที่ 3.95 บาท/หน่วย แต่ยังไม่ถึงระดับ 3.70 บาทที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้
4.ให้ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนทั้ง IPP และ SPP ลดกำไรลง มีการประเมินว่าหากลดค่าไฟลง 3.70 บาทต่อหน่วย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงไฟฟ้า กำไรลดลง ประมาณ 600-1,800 ล้านบาทต่อแห่ง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจนี้พอสมควร พบว่าสัปดาห์นี้หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าปรับลดลงจากข่าวการลดค่าไฟ 3.70 บาทต่อหน่วย หลังจากนี้คงต้องติดตามความชัดเจนว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร
ข่าวแนะนำ