เก็บภาษีความเค็มเขย่าตลาด 80,000 ล้านบาท
พาไปดูแนวทางการภาษีความเค็มที่ทางกระทรวงการคลัง และกรมสรรพสามิตระบุออกมาว่าจะมีความชัดเจนในปีนี้ สินค้าได้รับผลกระทบมากคือกลุ่มขนมขบเคี้ยว ต้องมีการปรับตัวรับมือกับเทรนด์การบริโภคที่เปลี่ยนไป
เมื่อช่วงก่อนสิ้นปี 2567 กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ระบุว่า กรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างศึกษาภาษีโซเดียม หรือ “ภาษีความเค็ม” โดยจะเริ่มเก็บภาษีความเค็มจากขนมขบเคี้ยว เป็นสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2568 โดยรูปแบบการจัดเก็บภาษีความเค็มจะใช้โมเดลเดียวกับภาษีความหวาน คือ เก็บภาษีแบบขั้นบันได ทยอยปรับขึ้น เพื่อให้เวลาผู้ประกอบการได้ปรับตัว
การคิดภาษีความเค็ม จะคิดจากปริมาณเกลือ หรือความเค็มในสินค้า คาดหวังว่า าษีที่ออกมานั้นจะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนส่วนผสมในการปรุงรส เพื่อลดการทานเค็มของคนไทยลง อย่างน้อยร้อยละ 30
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพ.ย.2567 เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ได้มอบให้กรมสรรพสามิตศึกษากลไกการเก็บภาษีความเค็มในสินค้าบางประเภทที่ไม่อยู่ในสินค้าควบคุม เช่น ขนมขบเคี้ยว ส่วนสินค้าที่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ หรือเป็นสินค้าปัจจัยสี่ต่อผู้มีรายได้อาจยังไม่เก็บภาษี เพื่อไม่ให้กระทบต่อประชาชน นอกจากนี้กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาว่า จะเก็บภาษีไขมันหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหม่จึงให้สรรพสามิตเริ่มศึกษา โดยดูว่ามีไขมันดีหรือไขมันไม่ดีในสินค้าแค่ไหน การดำเนินการนี้มี เป้าหมายเพื่อดูแลสุขภาพของคนไทย
ทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายข้าราชการ เห็นพ้องต้องกันในการเดินหน้าภาษีความเค็ม เรื่องภาษีความเค็มเคยถูกพูดถึงมานานหลายปี และกรมสรรพสามิตศึกษาไว้นานแล้ว ดังนั้นเมื่อฝ่ายการเมืองเห็นด้วย คิดว่าน่าจะเสนอครม.เพื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ในเร็วๆ นี้
ทางด้านกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ได้ประชุมคณะกรรมการนโยบายการลดบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยประชุมไปเมื่อช่วงกลางเดือนธ.ค.2567
ในที่ประชุมเห็นตรงกันว่า จะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมการรับประทานที่ไม่เหมาะสม เช่น การบริโภคเกลือและโซเดียมมากเกินไป
จากการสำรวจการบริโภคเกลือแกงในประเทศไทย ปี 2552 พบว่า คนไทยได้รับโซเดียมจากการรับประทานอาหารมากกว่า 4,351 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน มากกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก(WHO) กำหนดไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันถึง 2 เท่า การบริโภคเค็มทำให้คนไทย มากกว่า 22 ล้านคนป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียม เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ต้องเสียเงินเพื่อรักษาพยาบาลโรคดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
กระทรวงสาธารณสุข พยายามผลักดันนโยบายยุทธศาสตร์และมาตรการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในอาหารของคนไทย มีเป้าหมายการลดบริโภคเค็มร้อยละ 30 ซึ่งมีขับเคลื่อนนโยบายผ่าน อสม.ซึ่งสนับสนุนให้มี Salt meter เป็นเครื่องมือสร้างความตระหนักและควบคุมปริมาณโซเดียมในการปรุงอาหารของครัวเรือนที่รับผิดชอบ กำหนดเพดานปริมาณเกลือและโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป และผลักดันมาตรการภาษี
ในเรื่องการเก็บภาษีความเค็ม มีคณะกรรมการของสธ.ร่วมกับกรมสรรพสามิต ในการพิจารณากำหนดเกณฑ์การจัดเก็บ เป้าหมายไม่ใช่รายได้จากภาษีนี้ เพราะอาจจะไม่มาก แต่สิ่งที่ได้มา คือการทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย ประหยัดค่ารักษาพยาบาล
ปัจจุบันสธ.มีนโยบายเรื่องลดการป่วยด้วยโรคNCDs เนื่องจากมีข้อมูลชัดเจนว่ามีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคนี้ คิดเป็น ร้อยละ 52 ของงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้นต้องเร่งกระตุ้นให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ลดเค็ม ให้ได้
ทางด้าน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยมีการประเมิน กลุ่มสินค้าที่อาจเข้าข่ายเก็บภาษีความเค็ม เพราะมีปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์สูง โดยพบว่า สินค้ากลุ่มนี้มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ประมาณ 88,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18 ของมูลค่าตลาดอาหารสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด
แม้ขณะนี้ภาษี และเกณฑ์การเก็บภาษียังไม่ชัดเจน แต่คาดว่ากลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบมากสุดคือ ขนมขบเคี้ยว รองลงมาคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็น/แช่แข็ง โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จ ปลากระป๋อง
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม คงต้องขึ้นอยู่กับ อัตราภาษี กรอบเวลาการบังคับใช้ สภาพการแข่งขันของตลาด และความยืดหยุ่นในการปรับตัวของผู้ผลิตอาหารแต่ละประเภท คาดว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่น่าจะมุ่งเน้นที่การปรับสูตรอาหารให้มีปริมาณโซเดียมลดลงหรือการใช้เกลือโซเดียมต่ำทดแทน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าอย่างอาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่เป็นอาหารพื้นฐานและมีข้อจำกัดในการปรับเพิ่มราคาสินค้า เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลือกซื้อสินค้าตามปัจจัยด้านราคาเป็นหลัก
ส่วนกลุ่มสินค้าที่มีราคาสูง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีราคาต่อหน่วยตั้งแต่ 25 บาทขึ้นไป อาหารแช่เย็น/แช่แข็งแบบพรีเมียม ผู้ประกอบการอาจผลักภาระต้นทุนภาษีไปสู่ราคาสินค้าได้บางส่วน
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอาจใช้กลยุทธ์ปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตอาหารสุขภาพมากขึ้นทดแทน เนื่องจากผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อมีแนวโน้มความเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับสินค้าสุขภาพมากกว่า
แม้ว่าการจัดเก็บภาษีความเค็มยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่แนวโน้มผู้บริโภคที่หันมาเลือกซื้ออาหารสุขภาพและให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นก็เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว ซึ่งการบังคับใช้ภาษีความเค็มอาจต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมและมีระยะเวลาให้ผู้ผลิตสามารถปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการปรับสูตรอาหารหรือการใช้เกลือโซเดียมต่ำทดแทน ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในการเลือกรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ รวมไปถึงให้ความรู้ถึงความเสี่ยงของโรคจากการบริโภคโซเดียมมากเกินไป
ถ้าไปดูกลุ่มขนมขบเคี้ยว ที่เป็นกลุ่มแรกที่คาดว่าจะถูกเก็บภาษีความเค็ม ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย แบ่งตลาดของขนมขบเคี้ยว ตามยอดขาย ประกอบด้วย
-กลุ่มขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ด ครองตลาดใหญ่สุด มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 51 สินค้าในกลุ่มนี้ ประกอบด้วย มันฝรั่งทอดกรอบและขนมขึ้นรูป ตลาดกลุ่มนี้เติบโตขึ้นเรื่อยๆ ตามการขยายตัวของจำนวนผู้เดินทางท่องเที่ยว โดยพบว่า ผู้บริโภคมักนิยมซื้อขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ดในช่วงที่มีการสตรีมวิดีโอและการมีอีเวนต์ใหญ่ เช่น เมื่อเทียบปี 2567 ที่มีกีฬาโอลิมปิกและฟุตบอลยูโร ส่งผลให้ยอดขายขนมขบเคี้ยวรสเค็มหรือเผ็ดของไทยเพิ่มขึ้น 2 เท่า
-กลุ่มขนมปังกรอบและบิสกิต มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 36 สินค้าในกลุ่มนี้ประกอบด้วยขนมปังกรอบและบิสกิต แครกเกอร์ คุ้กกี้ และเวเฟอร์ โดยพบว่าคนไทยมักซื้อขนมปังกรอบและบิสกิตผ่านช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่เป็นหลัก โดยเฉพาะในไฮเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 56 ของช่องทางขายทั้งหมด ซึ่งช่องทางเหล่านี้มีทิศทางของจำนวนสาขาที่เติบโตต่อเนื่อง จึงทำให้ยอดขายขนมในกลุ่มนี้เติบโต
-กลุ่มขนมที่ทำมาจากสาหร่าย/เนื้อสัตว์/ธัญพืช มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13 สินค้าในกลุ่มนี้ประกอบด้วย ขนมขบเคี้ยวที่ทำมาจากสาหร่าย เนื้อปลา/ปลาหมึก/กุ้ง/หมู/ไก่ และถั่ว ซึ่งเติบโตขึ้นจากแรงหนุนของกระแสรักสุขภาพมากขึ้น เช่น บริโภคโปรตีนมากขึ้น รวมถึงการบริโภคโซเดียมที่ลดลง
ปัจจุบันผู้ประกอบการขนมกลุ่มสาหร่ายรายใหญ่ได้ลดโซเดียมลง ร้อยละ 50 ขณะที่ขนมกลุ่มมันฝรั่งทอดรายใหญ่ลดโซเดียมลงร้อยละ 30 ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนหันมาบริโภคขนมกลุ่มสาหร่ายทดแทนมากขึ้น เพราะโซเดียมน้อยกว่ากลุ่มมันฝรั่งทอด
ข่าวแนะนำ