7 ปีภาษีความหวาน เครื่องเครื่องดื่มปรับสูตรรับมือ
การเก็บภาษีความหวานที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 มาปีนี้เดินหน้ามาถึงระยะที่ 4 แล้ว พาไปดูว่าภาษีนี้มีผลต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่มของไทยแค่ไหน
กรมสรรพสามิตมีนโยบายเก็บภาษีความหวาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการบริโภคน้ำตาลของคนไทย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของกลุ่มโรคเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรม เช่น เบาหวาน ความดันและหลอดเลือด
หากมองในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ จะเห็นได้ว่ากลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ส่งผลกระทบภายนอกทางลบ (Negative Externality) ที่ส่งผลทางอ้อมต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ต้องใช้งบประมาณเพื่อรักษาพยาบาลผู้ป่วยในกลุ่มโรคดังกล่าว ดังนั้นการกำหนดภาษีพิเศษแทรกแซงกลไกราคา (Pigouvian Tax) เพื่อเพิ่มต้นทุนและทำให้การบริโภคสินค้ากลุ่มนี้ลดลง รวมถึงลดอัตราการเกิดโรคเรื้อรังจากพฤติกรรมติดหวานของคนไทยนั้น มีการนำมาใช้มานานกว่า 7 ปีแล้ว
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics วิเคราะห์การกรณีภาษีความหวานกับกลุ่มเครื่องดื่ม พบว่า
ไทยเริ่มเก็บภาษีความหวานมาตั้งแต่ปี 2560 คือระยะที่ 1 และจนมาในปี 2567 ก้าวสู่ระยะที่ 3 ซึ่งพบว่าผลกระทบของการขึ้นภาษีในแต่ละระลอก กลับส่งผลในทางตรงข้าม แทนที่จะเป็นการลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง กลับกลายเป็นนโยบายที่สร้างภาระให้ผู้บริโภคจากการส่งผ่านราคาต้นทุนภาษีความหวานที่ผู้ผลิตปรับเพิ่มราคาสินค้าแทน
“กลุ่มน้ำอัดลม ราคาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 18-40 (ขึ้นกับขนาดราคาขายในแต่ละบรรจุภัณฑ์) ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง ปรับราคาเพิ่มขึ้นราว ร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนบังคับภาษีความหวาน” สะท้อนให้เห็นความสามารถในการส่งผ่านภาระต้นทุนต่าง ๆ ของผู้ผลิตสู่ภาระฝั่งผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์
สิ่งที่น่ากังวลคือ “การเข้าสู่ระยะที่ 4 ในปี 2568 ของภาษีความหวานที่ถูกคิดภาษีเต็มขั้น” โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในสัดส่วน ร้อยละ 8-14 ที่จะถูกคิดภาษีเพิ่มเติมอีก 2 บาท อาจส่งผลให้ผู้บริโภคต้องรับภาระราคา ที่ปรับขึ้น เพราะการลดน้ำตาลของกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง อาจกระทบต่อยอดขาย เนื่องจากตามธรรมชาติเครื่องดื่มชูกำลังเป็นเครื่องดื่มให้พลังงานสูง และผู้บริโภคจะรู้สึกสดชื่นและมีแรงทันทีหลังจากดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ดังนั้นการปรับลดน้ำตาลอาจทำให้ความพอใจในการบริโภคสินค้าลดน้อยลง ประกอบกับ เครื่องดื่มชูกำลังเป็นสินค้าที่ทดแทนได้ง่าย ทำให้การปรับเปลี่ยนสูตรอาจต้องมีความระมัดระวังสูง
พาไปดูการปรับตัวของผู้ประกอบการ เพื่อลดผลกระทบของการถูกจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะในกลุ่มน้ำอัดลม กาแฟและชาพร้อมดื่มซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 55 ของตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์
1. การปรับสูตรน้ำตาลน้อย หรือสูตรไม่มีน้ำตาล (เติมสารความหวาน) เนื่องจากเครื่องดื่มกลุ่มนี้สามารถปรับลดน้ำตาลลงสู่ระดับไม่เกินร้อยละ 8 ซึ่งเป็นระดับที่คิดภาษีในอัตราที่ต่ำโดยไม่กระทบกับความรู้สึกของผู้บริโภค จากพฤติกรรมของผู้บริโภคเครื่องดื่มกลุ่มนี้ บริโภคเพื่อรสชาติมากกว่าเพื่อรับพลังงานจากน้ำตาล ดังนั้น การใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลสามารถทำได้โดยกระทบต่อยอดขายค่อนข้างน้อย
2. การปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดภาษีต่อหน่วยขาย เนื่องจากการปรับลดสูตรน้ำตาลอาจไม่ส่งผลต่อผู้บริโภคบางกลุ่มที่ยังชอบบริโภคความหวานจากน้ำตาล ทำให้รูปแบบการปรับตัว คือ การลดขนาด เช่น กลุ่มน้ำอัดลมสูตรดั้งเดิมที่มีน้ำตลาดในช่วงร้อยละ10-14 ที่จะถูกเพิ่มภาษีจาก 3 บาทเป็น 5 บาทต่อลิตร เริ่มเน้นตลาดด้วยการออกสินค้าขนาด 300-330 มิลลิลิตร เพื่อรับมือกับการเข้าสู่ระยะที่ 4 ของภาษีความหวาน ทำให้ราคาขายพิ่มขึ้นเพียงราว 60-66 สตางค์ต่อหน่วยขาย
การส่งผ่านราคาผ่านการขึ้นราคาสินค้า สามารถทำได้ง่ายเนื่องจากการขึ้นราคาเพียง 1 บาทก็ครอบคลุมต้นทุน แถมยังได้กำไรเพิ่มด้วย
เมื่อเทียบกับขนาดบรรจุภัณฑ์ขนาด 550 มิลลิลิตร ภาษีความหวานระยะที่ 4 จะมีการปรับเพิ่มขึ้น 1.1 บาท หากผู้ผลิตจะส่งผ่านราคาโดยไม่เสียพื้นที่กำไรอาจต้องขึ้นราคาถึง 2 บาทต่อหน่วยอาจจะแพงดังนั้นการลดขนาดแต่ขายแพงขึ้นทำให้ผู้บริโภคซื้อง่ายขึ้น
การเข้าสู่ระยะที่ 4 หรือระยะที่ภาษีความหวานถูกจัดเก็บเต็มขั้น แม้ภาษีที่ถูกจัดเก็บครอบคลุมตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์กว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าตลาด แต่เมื่อมองถึงผลกระทบ พบว่า จะเกิดขึ้นกับกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลังที่มีข้อจำกัดในการปรับตัว ในขณะที่สินค้าส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบน้อย เพราะมีการปรับตัวไปก่อนหน้านี้แล้ว
พาไปดูผลสำรวจของคนไทยกับทัศนคติเรื่องความหวาน มาร์เก็ตบัซซ (Marketbuzzz) สำรวจกลุ่มตัวอย่างคนไทยจำนวน 1,000 ราย เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับระดับความตระหนักรู้และพฤติกรรมการบริโภคน้ำตาลของคนไทย
ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า คนไทยกังวลเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาล โดยร้อยละ 75 ของคนไทย ระบุว่ากังวลเรื่องการบริโภคน้ำตาลมากที่สุดเพราะส่งผลต่อสุขภาพ และตัวเลขนี้พุ่งสูงถึงร้อยละ 91 ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในช่วงอายุ 15-24 ปี ซึ่งมีความกังวลมากเป็นพิเศษเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในอาหารที่รับประทาน โดยความรู้สึกผิดจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไปนั้นสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอาหารประเภทอื่นๆ เช่น ไขมัน หรือ คาร์โบไฮเดรต
ผลวิจัยพบว่า “ร้อยละ 62 ของคนไทยรู้สึกผิดเกี่ยวกับการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป” และพบว่าคนรุ่นใหม่ที่อายุระหว่าง 15-24 ปี เป็นกลุ่มเดียวกันที่รู้สึกผิดมากขึ้นเมื่อบริโภคน้ำตาล ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ถึงร้อยละ 85 ตรงนี้สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างไปสู่การดูแลใส่ใจสุขภาพมากขึ้นและการได้รับข้อมูลด้านโภชนาการมากขึ้น
ที่น่าตกใจคือคนไทยมากกว่าร้อยละ 80 ยังไม่ทราบว่าในน้ำตาล 1 ช้อนชา มีปริมาณเทียบเท่ากับน้ำตาลกี่กรัม หรือกี่แคลอรี่ (น้ำตาล 1 ช้อนชา = 4 กรัม ให้พลังงาน 16 กิโลแคลอรี่) การทดสอบนี้ค่อนข้างท้าทาย และทำให้เห็นภาพว่า แม้คนไทยจะตระหนักถึงความเสี่ยงและแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อการรับรู้และเข้าใจถึงปริมาณน้ำตาลที่ควรบริโภคในแต่ละวัน
เมื่อมองเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้คนไทยบริโภคน้ำตาลเกินไป มาจาก “หาซื้อง่าย” สินค้ายังมีความความหลากหลายและความสะดวกในการหาซื้อมาบริโภค ซึ่งสินค้าที่มีน้ำตาลจะหาซื้อได้ง่ายกว่าสินค้าที่มีปริมาณน้ำตาลน้อย ส่วนอีกปัจจัยคือ “ราคาที่ไม่แพง” โดยพบว่า สินค้าที่ราคาถูกมักจะมีปริมาณน้ำตาลสูง ส่วนสินค้าน้ำตาลน้อยราคาแพงกว่าปกติ
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก LINE MAN Wongnai แพลตฟอร์มเดลิเวอรี่ ซึ่งได้ดำเนินโครงการหวานน้อยสั่งได้ ร่วมกับกรมอนามัยตั้งแต่ปี 2566 พบว่าเกิดผลในทางบวกหลายประเด็น
-ร้านค้ากว่า 60,000 ร้านทั่วประเทศตื่นตัว เพิ่มตัวเลือกระดับความหวานในเมนูเดลิเวอรี จำนวนร้านเพิ่มขึ้น 8.5 เท่า เมื่อเทียบกับก่อนเริ่มโครงการ
-สัดส่วนการสั่งเมนูเครื่องดื่มที่ลดระดับความหวาน (หวานน้อยกว่าร้อยละ 100) มีมากถึงร้อยละ 58 จากยอดสั่งเครื่องดื่มทั้งหมด และส่วนใหญ่เป็นออร์เดอร์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
-ผู้สั่งเมนูเครื่องดื่มที่ลดระดับความหวานลงจากปกติ รวมทั้งปีมากถึง 20 ล้านแก้ว ช่วยลดการบริโภคน้ำตาลคนไทยลงได้ 1 ใน 3 จากแค่เพิ่มตัวเลือกระดับความหวาน ก็เป็นการเพิ่มทางเลือกในการซื้อของประชาชนมากขึ้น
ข่าวแนะนำ