EEC ไฟเขียวรถไฟเร็วสูง 3 สนามบิน
บอร์ด EEC เห็นชอบขยายเพิ่มพื้นที่ การเปลี่ยนแปลง จัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษใหม่ รองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ พร้อมเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คาดเริ่มงานก่อสร้างโครงการฯ ในเดือนเม.ย.นี้
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ครั้งที่ 1/2568 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กล่าวว่า ที่ประชุม EEC ได้มีการพิจารณาและเห็นชอบในประเด็นสำคัญ อาทิ เห็นชอบในเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการขยายเพิ่มเติมพื้นที่ การเปลี่ยนแปลง และการจัดตั้ง เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษใหม่ โดยมีการเห็นชอบเพิ่มเติมพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ประมาณ 714 ไร่ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุในความดูแลของกองทัพเรือ เพื่อให้เขตส่งเสริมฯ ครอบคลุมพื้นที่ดำเนินโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2
ซึ่งได้ปรับการออกแบบ เพื่อเลี่ยงสิ่งกีดขวางทางการบินบริเวณด้านเหนือ (เขาโกรกตะแบก)และเพื่อใช้สำหรับการปฏิบัติการบินและเดินอากาศ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัยตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบิน, เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์และแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)
โดยขยายเจตนารมณ์ของโครงการที่กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม จากเดิม “ระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบเพิ่มเติมเป็น “ระดับการผลิตเชิงพาณิชย์หรือการใช้งานต่อเนื่อง ซึ่งเป็นระดับที่ผลิตภัณฑ์ผ่านกระบวนการผลิตต้นแบบทดสอบทดลอง และผลิตเชิงพาณิชย์ที่มีคุณภาพพร้อมส่งมอบต่อผู้บริโภค ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ที่มีการผลิตที่สะอาดและมีมลพิษต่ำ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมเกษตรชีวภาพ เป็นต้น
นอกจากนี้รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการในประเทศ โดยการใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์จากผู้ผลิตภายในประเทศในสัดส่วนถึงร้อยละ 90 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตได้ภายในพื้นที่โครงการ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสสร้างอาชีพผ่านการจ้างงานอีกประมาณ 20,000 คน และสร้างโอกาสทางธุรกิจต่อเนื่องให้แก่ชุมชนในพื้นที่ เช่น ร้านค้า โรงแรม หอพัก ฯลฯ ถือเป็นการกระตุ้นทางเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ
ขณะเดียวกัน คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังได้รับทราบความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการหารือร่วมกันเพิ่มเติมระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
เพื่อยืนยันว่าการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ ครั้งนี้ ยังคงเป็นไปตามหลักการเดิมของการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ในโครงการนี้ และได้มอบหมายให้ รฟท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อ 21 ของประกาศคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปตามที่ได้หารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับขั้นตอนและแนวทางปฏิบัติการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว
ที่มา TNN
ข่าวแนะนำ