นักวิชาการ ชี้ "GDP ไทย" ปีนี้ทะลุ 3% ได้ หากผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ดร ประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยมีโอกาสทะลุ ร้อยละ 3 ในปี 2568 นี้ ได้หากผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน แนะเร่งพัฒนาระบบสวัสดิการ
รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า หากสงครามการค้ารุนแรงขึ้น และมีการใช้กำแพงภาษีนำเข้าตอบโต้กันในวงกว้าง อาจทำให้ระบบการผลิตห่วงโซ่อุปทานและระบบการค้าโลก แยกส่วนออกจากกันมากยิ่งขึ้น
ซึ่งจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ วิเคราะห์ว่า จีดีพีโลก จะเสียหายไม่ต่ำกว่าขนาดจีดีพีประเทศฝรั่งเศสและประเทศเยอรมนีรวมกัน หรือ จีดีพีโลก จะหายไปไม่ต่ำกว่าร้อยละ 7 ส่งผลให้การค้าโลกจะซบเซาลง และหากเกิดกรณีที่แย่ที่สุด มีการตอบโต้กันระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาในระดับอัตราภาษี ร้อยละ 60 จะเกิดการชะลอตัวลงอย่างแรงของเศรษฐกิจและภาคส่งออกของทั้ง 2 ประเทศ มีโอกาสที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในระดับเดียวกับวิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี ค.ศ.2008
ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 4 และยังคงมีแรงส่งต่อเนื่องต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไตรมาสแรกปี 2568 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การเร่งใช้จ่ายงบประมาณปี 2568 บวกกับการเร่งตัวของภาคส่งออกก่อนสงครามการค้า การใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยวจะทำให้การเติบโตในช่วงสองไตรมาสแรกปีนี้เป็นไปได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตาม สงครามทางการค้าจะเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทยและระบบการค้าโลกในช่วงครึ่งปีหลัง และอาจมีความเสี่ยงของภาวะฟองสบู่แตกในตลาดการเงินโลกเพิ่มขึ้น จะกดดันให้เศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังชะลอตัวลง งบประมาณปี 2568 ที่มีการจัดสรรงบลงทุนสูงเป็นประวัติการณ์ เกือบ 1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปี 2567 ถึงร้อยละ 26.5 จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้ภาคการลงทุนของไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจนหากไม่มีปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง
ทั้งนี้ หากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การบริหารจัดการกรอบสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีให้อยู่ในระดับที่ไม่เกิดความเสี่ยงฐานะทางการคลังเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า ซึ่งตัวเลขจีดีพีไทยสามารถโตทะลุร้อยละ 3 ในปีนี้ได้ หากใช้นโยบายและมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม พร้อมกับการบริหารนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้สนับสนุนการส่งออกสินค้าและบริการ โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตร อาหาร และภาคบริการท่องเที่ยว ต้องตั้งเป้าพร้อมยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ขึ้นไปแตะระดับ 40 ล้านคนในปี 2568
รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ในภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวนสูงมาก การเร่งพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนทุกช่วงวัยมีความสำคัญ เพื่อให้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมสามารถรับมือกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจได้ โดยไม่เกิดความขัดแย้งทางสังคมรุนแรง การพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนทุกช่วงวัยนั้นต้องอยู่บนรูปแบบสวัสดิการที่มาจาก 4 ฐาน คือ สวัสดิการจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ ต้องให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเสมอภาคกัน / สวัสดิการจากฐานชีวิตวัฒนธรรมในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชน / สวัสดิการจากฐานประกัน เช่น ระบบประกันสังคม และ สวัสดิการจากฐานสิทธิ
ข่าวแนะนำ