TNN อุตสาหกรรมการบินของไทย ฟื้นตัวแข็งแกร่ง l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

อุตสาหกรรมการบินของไทย ฟื้นตัวแข็งแกร่ง l การตลาดเงินล้าน

ภาพรวมอุตสาหกรรมการบินปี 2567 สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ระบุเห็นการเติบโตที่แข็งแกร่งอย่างชัดเจน

ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ ไตรมาส 1 เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ร้อยละ 16.9 ต่อมาไตรมาส 2 ก็ยังเติบโตต่อเนื่อง เป็นร้อยละ 10.1 และไตรมาสล่าสุดที่มีการเปิดเผยตัวเลขออกมา ไตรมาส 3 ปี 2567 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยเป็นการขยายตัวของ ปริมาณการขนส่งผู้โดยสารระหว่างประเทศ ซึ่งไตรมาส 1 ขยายตัวร้อยละ 21.5 ถัดมาไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 และไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 

และปริมาณการขนส่งผู้โดยสารในประเทศ มีตัวเลขไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7

ส่วนปริมาณการขนส่งสินค้า ขยายตัวที่ร้อยละ 13.2 ในไตรมาส 1 และเพิ่มขึ้น 13.5 ในไตรมาส 2 ส่วนไตรมาส 3 ขยายตัวอีกร้อยละ 11.5

ขณะที่ ภาพรวมการบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีการขยายตัวอย่างโดดเด่น ซึ่งข้อมูลจาก สมาคมสายการบินเอเชียแปซิฟิก (AAPA) รายงานว่า

จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.1 ในไตรมาส 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 25.4 และไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1

ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร และ ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร ก็ขยายตัวในทุกไตรมาส อย่างไตรมาสล่าสุด ไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 และ ร้อยละ 19.9 ตามลำดับ 

มาดูต่อที่อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร หรือ Cabin Factor ช่วงไตรมาส 1 อยู่ที่ร้อยละ 81.2 ไตรมาส 2 ร้อยละ 80.9 และ ไตรมาส 3 ร้อยละ 82.1

ส่วนปริมาณการขนส่งสินค้าในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ก็เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ไตรมาส 2 ร้อยละ 16 เช่นกัน ส่วนไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1

ปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ ไตรมาส 1 เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.8 และไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 และไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3

ขณะที่อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ ไตรมาส 1 อยู่ที่ร้อยละ 59.3 ไตรมาส 2 ร้อยละ 61.4 และ ไตรมาส 3 ร้อยละ 60.3

สำหรับประเทศไทย ดูจากจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเข้าออกนอกประเทศ ผ่าน ท่าอากาศยานหลัก 6 แห่ง ก็เห็นตัวเลขการเติบโตที่ดีขึ้น โดยไตรมาส 1 มีจำนวน 32.3 ล้านคน ส่วนไตรมาส 2 จำนวนรวม 28.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ อัตราร้อยละ 61.5 หรือประมาณ 17.8 ล้านคน คิดเป็นการเติบโตร้อยละ 27.5

และไตรมาส 3 มีจำนวนรวมประมาณ 29.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 โดยเป็นผู้โดยสารระหว่างประเทศ ประมาณร้อยยละ 62 หรือประมาณ 18.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 20.4

นอกจากนี้ สมาคมสายการบินเอเชียแปซิฟิก ยังคาดการณ์ในช่วงไตรมาส 4 นี้ ด้วยโดยคาดว่าแนวโน้มความต้องการ เดินทางและขนส่งสินค้าทางอากาศในภูมิภาคยังคงขยายตัว จากการขยายเครือข่ายเส้นทางบินอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ การขยายตัวของการผลิตสินค้าเพื่อรองรับเทศกาลปลายปี 

อย่างไรก็ดี ยังคงเผชิญกับความเสี่ยงและ ความไม่แน่นอน อาทิ ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน การส่งมอบเครื่องบินล่าช้า รวมถึง ขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ส่งผลให้ สายการบินในภูมิภาคยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมต้นทุน ควบคู่ไปกับการแสวงหาโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานและการเติบโตอยางยั่งยืน โดยยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไร

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้ เป็นการรวบรวมจากรายงานการวิเคราะห์ผลประกอบการ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่รายงานผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 

นอกจากนี้ จากภาพรวมด้านการบินที่ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ยังสะท้อนให้เห็นไปยังผลประกอบการของธุรกิจสายการบิน ด้วย ที่ทำให้มีรายได้เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการสายการบินที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 3 ราย ได้แก่ การบินไทย, บางกอกแอร์เวย์ส และ ไทย แอร์เอเชีย

จากข้อมูล รายงานผลประกอบการล่าสุด ที่เป็นงวด 9 เดือน ปี 2567

เริ่มจาก บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการ งวด 9 เดือน มีรายได้รวมอยู่ที่ 135,810 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 จากช่วงเดียวกันของปี 2566 และมีกำไรสุทธิ อยู่ที่จำนวน 15,221 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบิน บางกอกแอร์เวยส์  ดูจากผลประกอบการ งวด 9 เดือน แล้ว พบว่า บริษัท มีรายได้รวม 20,004.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3,256.6 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 

อีกหนึ่งบริษัท คือ บริษัท เอเชีย เอวิเอชัน จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารสายการบิน ไทยแอร์เอเชีย รายงานประกอบการ โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 38,731.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากช่วงเดียวกันปี 2566 และพลิกจากขาดทุนกว่า 2,300 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนปีที่แล้ว มาเป็นกำไร 3,121.4 ล้านบาท ในช่วง 9 เดือนของปี 2567

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง