ธุรกิจการบินจากวิกฤตพลิกรายได้พุ่ง 1 ล้านล้านดอลล์ l การตลาดเงินล้าน
แนวโน้มอุตสาหกรรมการบินในปี 2025 คาดว่า สายการบินทั่วโลกจะกวาดรายได้เพิ่มขึ้น เป็นกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และผู้โดยสารจะพุ่งเป็นประวัติการณ์
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาตา (IATA) คาดการณ์ถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก ปี 2025 บอกว่า อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกจะมีรายได้สูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (1.007 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ ของปี 2024 ที่คาดว่าจะมีรายได้แตะ 964,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ซึ่งถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมการบิน
ส่วนกำไรสุทธิ โดยรวมคาดว่าปี 2025 จะอยู่ที่ 36,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 31,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของปี 2024
และจะมีผู้โดยสารเดินทางโดยเครื่องบิน ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์อีกด้วย ที่จำนวน 5,200 ล้านคน
หลังก่อนหน้านี้ ในช่วงที่เกิดวิกฤตการระบาดครั้งใหญ่ ของโควิด 19 ส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมการบิน ทำให้ในปี 2020 อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต้องล่มสลาย และมีผลการดำเนินงาน ขาดทุนสูงถึง 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวขึ้นนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางปัญหาการขาดแคลนเครื่องบินที่ยืดเยื้อ โดย วิลลี่ วอล์ช (Willie Walsh) ผู้อำนวยการ IATA กล่าวว่า ถือเป็นปัญหาที่หนักหนาเกินกว่าจะยอมรับได้
ทั้งบอกอีกว่า การเติบโตของสายการบิน ถูกขัดขวางโดยความล่าช้าในการส่งมอบเครื่องบิน ที่เกิดจากปัญหาของผู้ผลิต ทั้ง Boeing และ Airbus รวมถึงซัพพลายเออร์ของทั้ง 2 ราย เพราะหากไม่มีเครื่องบินรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สายการบิน ไม่สามารถลดต้นทุนเชื้อเพลิงในขณะที่ต้องขนส่งผู้โดยสารที่มีจำนวนมากขึ้นได้
วอล์ช กล่าวว่า นี่ถือเป็นสถานการณ์ที่ยอมรับไม่ได้ เพราะรอมานาน และความอดทนของพวกเราก็หมดลงแล้ว ซัพพลายเออร์ ทำตัวเหมือน กึ่งผูกขาด และดูเหมือนว่าจะได้รับประโยชน์จากปัญหานี้ แต่สายการบินกลับต้องเสียเปรียบ ดังนั้น เราจะต้องเพิ่มแรงกดดันและอาจต้องมองหาฝ่ายสนับสนุนให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้ซัพพลายเออร์รายสำคัญต้องดำเนินการร่วมกัน
รอยเตอร์ส รายงานด้วยว่า แอร์บัส ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้ลดเป้าหมายการส่งมอบเครื่องบินในเดือนกรกฎาคม ลง ส่วน โบอิ้ง ได้ชะลอการผลิตเนื่องจากการนัดหยุดงานประท้วง และการเพิ่มความใส่ใจในกฎระเบียบหลังจากเกิดวิกฤตด้านความปลอดภัย ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินเอง ต่างก็กำลังประสบปัญหาเช่นกัน
โดยการออกมาเรียกร้องของ IATA ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะปี 2023 วอล์ช กล่าวว่า ทางสายการบินรู้สึก ผิดหวังอย่างรุนแรง จากการขาดแคลนเครื่องบินใหม่และชิ้นส่วนอะไหล่ // รวมถึงเมื่อเดือนมิถุนายนของปีก่อนหน้า สายการบินก็ให้ IATA เร่งหารือกับผู้ผลิตเครื่องบินเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
ซึ่งแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมกล่าวว่า เคยมีการจัดประชุมหารือร่วมกันอย่างน้อย 1 ครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมนัก เพราะว่า ซัพพลายเออร์ จำนวนมาก ยังไม่หลุดพ้นจากผลกระทบจากวิกฤติการระบาดครั้งใหญ่
รายงานข่าว ระบุอีกว่า นอกจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องปัญหาการขาดแคลนเครื่องบินแล้ว ยังมีความไม่แน่นอนอื่นอีก ต่ออุตสาหกรรมการบิน เช่น ความขัดแย้งในตะวันออกกลางและยูเครน ซึ่งอาจกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของผู้โดยสารในปี 2025 ขณะเดียวกัน นโยบายภาษีศุลกากรที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ก็อาจขัดขวางการค้าและความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งสายการบินต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน สายการบินฟื้นตัวดีขึ้น จากความต้องการเดินทางที่ฟื้นตัวขึ้น ก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษ์นิยมสิ่งแวดล้อม ว่ากำไรที่เพิ่มขึ้นด้วยจำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้นนี้ จะยิ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ IATA ยังได้ออกมาเผยว่า ฮ่องกง ได้กลับมาฟื้นคืนสถานะการเป็นศูนย์กลางการบินโลกได้อย่างสมบูรณ์แล้ว
โดยก่อนเกิดโรคระบาดใหญ่ มีสายการบินเกือบร้อยราย เปลี่ยนเส้นทางมาที่ฮ่องกง แต่เมื่อเกิดโควิด 19 ก็ทำให้การจราจรทางอากาศในฮ่องกง ลดลง แต่ปัจจุบัน สายการบินส่วนใหญ่ได้กลับคืนมาแล้ว โดยมีสายการบินประจำ 81 รายที่กลับมาใช้บริการอีกครั้ง และมีสายการบินอีก 4 ราย จะเพิ่มเที่ยวบินในฮ่องกง ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดด้านน่านฟ้าของรัสเซีย เนื่องจากเส้นทางการบินระยะไกล ไม่สามารถบินผ่านน่านฟ้าของประเทศดังกล่าวได้ ทำให้สายการบินหลักหลายแห่งในสหรัฐฯ และยุโรป ต้องเลื่อนการเปิดเส้นทางบินจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ
ข่าวแนะนำ