TNN ควบรวม "ฮอนด้า - นิสสัน" เสริมแกร่ง หรือ เพื่ออยู่รอด ? l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

ควบรวม "ฮอนด้า - นิสสัน" เสริมแกร่ง หรือ เพื่ออยู่รอด ? l การตลาดเงินล้าน

วิเคราะห์ "ฮอนด้า" และ "นิสสัน" ค่ายใหญ่ของญี่ปุ่น เผชิญปัญหาเสียส่วนแบ่งตลาดรถจีนที่มีขนาดใหญ่สุดในโลกให้รถสัญชาติจีน ส่วนการควบรวมกิจการเป็นการเสริมแกร่งหรือเพื่ออยู่รอด

ปี 2567 ในสมรภูมิการแข่งขันที่ดุเดือดของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก เกิดดีลใหญ่ในประวัติศาสตร์ยานยนต์ กับการประกาศเริ่มต้นเจรจาควบรวมกิจการระหว่าง ฮอนด้า กับ นิสสัน ซึ่งจะทำให้เกิดบริษัทใหม่ที่มีมูลค่าเกือบ 5.3 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยนับถึงวัน 20 ธันวาคมปีนี้ "ฮอนด้า" มีมูลค่าตลาดราว 4.19 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วน "นิสสัน" มีมูลค่าตลาด 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์

ส่วนกำลังการผลิตรถรวมกันอยู่ที่ประมาณ 7.63 ล้านคันต่อปี "ฮอนด้า" ผลิตได้ 4.19 ล้านคันเมื่อปีที่แล้ว ด้าน "นิสสัน" ผลิตได้ 3.44 ล้านคัน ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 3 รองจาก "โตโยต้า" ที่มีกำลังผลิต 11.2 ล้านคันในปี 2566 และ "โฟล์คสวาเกน" 9.2 ล้านคัน

เมื่อเทียบข้อมูลของทั้ง 2 บริษัทตามข้อมูลของนิกเกอิ ในแง่ยอดขายรถปีงบการเงินที่สิ้นสุดเดือนมีนาคมปีนี้ ฝั่งของ "ฮอนด้า" อยู่ที่ 4.1 ล้านคัน ส่วน "นิสสัน" อยู่ที่ 3.4 ล้านคัน

สำหรับรายได้รวมของ "ฮอนด้า" อยู่ที่ 1.318 แสนล้านดอลลาร์ และ "นิสสัน" อยู่ที่ 8.18 หมื่นล้านดอลลาร์ กำไรสุทธิของ "ฮอนด้า" อยู่ที่ 7.1 พันล้านดอลลาร์ และ "นิสสัน" แตะที่ 2.8 พันล้านดอลลาร์ ด้านจำนวนพนักงาน "ฮอนด้า" อยู่ที่ประมาณ 195,000 คน และ "นิสสัน" อยู่ที่ 133,000 คน 

ขณะที่ ทั้ง 2 ค่ายตอนนี้ต่างเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่สถานการณ์ของ "นิสสัน" ค่อนข้างรุนแรงกว่า โดยเมื่อเดือนที่แล้ว "นิสสัน" ประกาศแผนเลิกจ้างพนักงานราว 9,000 คน และลดกำลังการผลิตรถยนต์ทั่วโลกร้อยละ 20 หลังจากยอดขายในตลาดสำคัญอย่างจีนและสหรัฐฯ ลดลง 

ขณะที่ "ฮอนด้า" รายงานตัวเลขรายได้ย่ำแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากยอดขายในจีนลดลง แม้ธุรกิจรถจักรยานยนต์และรถยนต์ไฮบริดจะช่วยหนุนสถานะการเงินให้ยังแข็งแกร่งอยู่ก็ตาม รวมทั้ง "ฮอนด้า" ต้องการทางเลือกเพิ่มเติมในการพัฒนายานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ หลังจาก GM ยุติการพัฒนาแท็กซี่ไร้คนขับครูซ (Cruise) ซึ่งร่วมมือกับฮอนด้า

ทั้ง "ฮอนด้า" และ "นิสสัน" ต่างรายงานตัวเลขผลประกอบการที่ไม่ดีนักในช่วงครึ่งแรกของปีงบการเงินปัจจุบัน โดยกำไรสุทธิของ "ฮอนด้า" ลดลงร้อยละ 19.7 ขณะที่กำไรสุทธิของ "นิสสัน" กลับร่วงลงถึงร้อยละ 93.5 ส่วนกำไรจากการดำเนินงานของ "ฮอนด้า" เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ด้าน “นิสสัน” กลับลดลงถึงร้อยละ 90

แม้ทั้ง 2 บริษัทจะอ้างถึงปัจจัยชั่วคราวที่ทำให้กำไรลดลง แต่ทั้งคู่ก็เผชิญปัญหาเรื่องปริมาณการผลิตและการส่งออกที่ลดลงต่อเนื่อง กรณีของ "ฮอนด้า" เคยผลิตรถได้ 5.4 ล้านคันในปี 2561 แต่กลับผลิตเพียง 4.2 ล้านคันในปี 2566 ส่วนการส่งออกจากญี่ปุ่นในช่วงเดียวกันก็ลดลงจาก 176,715 คัน เหลือ 85,299 คัน 

กรณีของ "นิสสัน" การผลิตเคยอยู่ที่ 5.7 ล้านคันในปี 2561 ก็เหลือแค่ประมาณปีละ 3.4 ล้านคันในช่วง 3 ปีล่าสุด ด้านการส่งออกจากญี่ปุ่นก็ลดลงจาก 583,671 คันในปี 2561 เหลือ 440,140 คันในปีนี้ 

นอกจากนี้ "ฮอนด้า" และ "นิสสัน" ก็เผชิญปัญหาเช่นเดียวกับผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติรายอื่น ๆ ที่เสียส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์จีนที่มีขนาดใหญ่สุดในโลกให้กับ BYD และผู้ผลิตรถสัญชาติจีนรายอื่น ๆ ที่เน้นผลิตรถยนต์ EV และไฮบริด 

ข้อมูลจาก "ฟิลิป มูนอส" นักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ ระบุว่า แบรนด์รถยนต์จากจีนกำลังไล่ตาม ฮอนด้า และ นิสสัน มาอย่างกระชั้นชิด โดยข้อมูลยอดขายของ 17 แบรนด์รถยนต์ระดับโลก ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปีนี้ แบรนด์จีนเติบโตอย่างรวดเร็วและมีชื่อติดอันดับถึง 4 แบรนด์ โดยเฉพาะ BYD ที่มียอดขายรวม 2.75 ล้านคัน ตามหลัง "ฮอนด้า" ที่อยู่ที่ 2.8 ล้านคัน และแซงหน้า "นิสสัน" ที่อยู่ที่ 2.5 ล้านคัน ส่วน "จี๋ลี่" (Geely) ทำยอดขายตามมาที่ 2.3 ล้านคัน  ขณะที่แบรนด์ "เชอรรี่" ทำยอดขายรวม 1.75 ล้านคัน และ "ฉางอัน" 1.58 ล้านคัน 

ส่วนความคืบหน้าการควบรวมกิจการ "ฮอนด้า"และ "นิสสัน" ประกาศเริ่มการเจรจาควบรวมกิจการอย่างเป็นทางการแล้ว และจะจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในแง่ยอดขาย รองจาก "โตโยต้า" และ "โฟล์คสวาเกน" แซงหน้า "ฮุนได" และ "เกีย" ของเกาหลีใต้ ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลและทรัพยากรระหว่างกัน รวมถึงการประหยัดจากขนาด (economy of scale) และการทำงานร่วมกัน ขณะเดียวกันก็จะเป็นการปกป้องทั้ง 2 แบรนด์ให้ยังอยู่ได้ต่อไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมยานยนต์โลก

โดยทั้ง 2 บริษัทตั้งเป้าจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันภายในเดือนมิถุนายน ปี 2568 และจะตั้งบริษัทโฮลดิ้งให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม ปี 2569 หลัง 2 บริษัทถอนตัวออกจากตลาดหุ้น ซึ่ง "ฮอนด้า" ที่มีขนาดใหญ่กว่าจะแต่งตั้งบอร์ดบริหารส่วนใหญ่ในบริษัทใหม่ รวมถึงประธานบอร์ดด้วย 

นอกจากนี้ "มิตซูบิชิ" พันธมิตรของ "นิสสัน" มีโอกาสที่จะผนวกรวมในความร่วมมือครั้งนี้ด้วย ซึ่ง "มิตซูบิชิ" มีเวลาตัดสินใจภายในสิ้นเดือนมกราคม ปี 2568 หากเกิดการผนวกรวม 3 ฝ่าย ระหว่าง "ฮอนด้า-นิสสัน" และ "มิตซูบิชิ" จะทำให้ยอดขายทั่วโลกของทั้ง 3 ค่าย เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 8 ล้านคัน แซงหน้า "เกีย" และ "ฮุนได" ของเกาหลีใต้ 

"โทชิฮิโระ มิเบะ" CEO ของฮอนด้า ระบุในงานแถลงข่าวว่า จำเป็นต้องทำให้บริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และการขับขี่อัจฉริยะ การบูรณาการทางธุรกิจจะช่วยให้บริษัทก้าวหน้าขึ้น ซึ่งไม่อาจทำได้ภายใต้กรอบความร่วมมือในปัจจุบัน

น่าสนใจว่า การควบรวมกิจการระหว่างค่ายรถยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 แห่งของญี่ปุ่น นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่น เพราะจะทำให้เหลือค่ายรถยนต์เพียง 2 ขั้ว นั่นคือ "ฮอนด้า-นิสสัน-มิตซูบิชิ" กับอีกขั้วหนึ่งที่ประกอบด้วย "โตโยต้า" ซึ่งถือหุ้นใน "มาสด้า-ซูซูกิ-ซูบารุ-อีซูซุ-ฮีโน่-ไดฮัทสุ" 

ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า ทางการญี่ปุ่นมีส่วนสนับสนุนข้อตกลงควบรวมกิจการระหว่าง "ฮอนด้า-นิสสัน" เพราะข้อตกลงนี้เกิดขึ้นเพียงไม่นานหลังมีข่าวว่า "ฟ็อกซ์คอนน์" หรือ "หงไห่ พริซิซั่น อินดัสทรี" ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตามสัญญาจ้างรายใหญ่ของไต้หวัน แสดงความสนใจเข้าซื้อหุ้นหรือเทกโอเวอร์นิสสัน ซึ่งเป็นการเร่งปฏิกิริยาให้เกิดความร่วมมือของค่ายรถญี่ปุ่นด้วยกันแทนที่จะเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามา

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง