เริ่มวันแรกปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 17 อัตรา
เริ่มแล้ว! 1 ม.ค.2568 ปรับค่าแรงขั้นต่ำแรงงานทั่วประเทศ 17 อัตรา ตั้งแต่ 7-55 บาท คาดแตะถึง 400 บาท/วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (1 มกราคม 2568) เป็นวันแรกที่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ หรือ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ให้กับแรงงานทั่วประเทศ
ภายหลัง ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 13) ซึ่งมีมติเห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างทุกคน ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568
สาระสำคัญของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรอบใหม่ ประกอบด้วย 17 อัตราทั่วประเทศ โดยค่าจ้างใหม่อยู่ระหว่าง 337 – 400 บาทต่อวัน ปรับขึ้นต่ำสุด 7 บาทจนไปถึงสูงสุด 55 บาท หรือเฉลี่ยร้อยละ 2.9
หลังจากคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ในการประชุม เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ระบุถึงเหตุผลของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า ได้พิจารณาเศรษฐกิจไทยเดือนตุลาคม 2567 มองว่าปรับดีขึ้นจากรายรับภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคภาคเอกชน ส่วนหนึ่งได้รับผลดีจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ
ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ในประเทศและการส่งออก และแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ในปี 2568 ก็คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8
ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกรายการมีราคาสูงขึ้น ส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงของแรงงานลดลง
ดังนั้น เพื่อรักษาอำนาจซื้อของแรงงานทั่วไปที่เริ่มเข้าทำงานใหม่ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ จึงได้มีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตรา 7 - 55 บาท เป็นอัตราวันละ 337 – 400 บาท
ด้านดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า หากเป็นนายจ้างอาจบอกว่าพอรับได้
โดยเฉพาะกทม.และจังหวัดปริมณฑลที่เป็นแหล่งจ้างงานใหญ่สุดค่าจ้างเพิ่มขึ้นวันละ 9 บาทคิดเป็นร้อยละ 2.48 ขณะที่ 67 จังหวัดที่ค่าจ้างต่ำสุดอยู่ที่ 337 บาทและสูงสุด 359 บาท
โดยเฉลี่ยการปรับใช้อัตราที่รอมชอมกันคือปรับเพิ่มเฉลี่ยร้อยละ 2 ทำให้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นวันละ 7 บาท หรือเดือนละไม่เกิน 210 บาท คงเพิ่มต้นทุนบ้าง แต่คงไม่ถึงกับมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ
ส่วนจังหวัดที่ปรับ 400 บาท ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เศรษฐกิจทั้งด้านการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม ซึ่งค่าจ้างอยู่ในอัตราที่สูงอยู่ก่อนหน้าแล้ว
ข่าวแนะนำ