คนไทยติดแกรม สินค้าหรูโตสวนกระแส ไม่แคร์เศรษฐกิจทรุด ? l การตลาดเงินล้าน
วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยถึงปรากฎการณ์ "คนไทยเสพติดความลักซ์" โดยจะแรงต่อเนื่องในปี 2568 หนุนสินค้าหรูโตสวนกระแสไม่แคร์เศรษฐกิจทรุด
ปรากฏการณ์ "เสพติดความลักซ์" ของคนไทยกลายเป็นประเด็นที่น่าจับตา แม้ในภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดี วัดได้จากความขยันออกสินค้าและบริการของแต่ละแบรนด์ที่ไม่ว่าจะ Launch อะไรออกมา ก็ขายได้ จึงกลายเป็นเทรนด์ทางการตลาดที่น่าสนใจสำหรับหลาย ๆ ธุรกิจ รวมถึงแคมเปญต่าง ๆ ที่มักจะมีความหรูเป็นตัวขับเคลื่อน
ผศ.ดร.สุเทพ นิ่มสาย หัวหน้าสาขาการจัดการ และกลยุทธ์การตลาด จาก วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดสินค้าหรูขณะนี้
1. โลกแห่ง "ความลักซ์" จะไม่ได้จำกัดอยู่แค่สินค้าแบรนด์เนม แต่ขยายไปยังสินค้าและบริการรอบตัวที่มาพร้อมกับภาพลักษณ์สุดพรีเมียมและราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสินค้าในหมวดหมู่เดียวกัน โดยมี TOP 5 สินค้า-บริการหรูโดนใจยุคใหม่ที่ชาว Luxumer พร้อมเทกระเป๋าจ่าย เช่น อาหารและเครื่องดื่มพรีเมียม, บัตรคอนเสิร์ต การแสดง และกีฬาแมตช์สำคัญ การท่องเที่ยวแบบกินหรู อยู่สบาย โชว์ไลฟ์สไตล์ผ่านโซเชียล เป็นต้น
2. ไม่ต้องรวยก็หรูได้ ถ้าใจมันลักซ์ โดยพบว่าชาว Luxumer รุ่นใหม่ที่รายได้ไม่สูงมากแต่ต้องการแสดงตัวตนทางสังคม ผลวิจัยพบว่า กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและเงินออมไม่มากนักจะมีความติดลักซ์ในกลุ่มสินค้าประเภทอาหารและเครื่องดื่มเป็นส่วนใหญ่ หรืออยากลองสัมผัสประสบการณ์หรูหราสักครั้งในชีวิต ผลการวิจัยยังพบอีกว่า ระดับค่าความหลงใหลในวัตถุนิยม (Material Values Scale (MVS) ของผู้ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 20,000บาท ไปจนถึง ผู้มีรายได้เกิน 200,000 บาท กลับไม่แตกต่าง จึงสรุปได้ว่า "รายได้" ไม่ใช่ตัวแปรสำคัญ ถ้าพึงพอใจก็พร้อมจ่าย
3. ลงทุนในความลักซ์ - จ่ายวันนี้ คุ้มวันหน้า ในอดีต การซื้อสินค้าหรูมักถูกมองว่าเป็นการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย แต่ปัจจุบัน สินค้าหรูหลายประเภทกลายเป็นของหายากและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
ผศ.ดร. สุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2568 ไปจนถึงอีกหลายปีข้างหน้า ไม่ว่าเศรษฐกิจจะขาขึ้นหรือขาลง ตลาดสินค้าและบริการหรูยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเกิดเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ
1. การตลาดเชิงอารมณ์จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะชาว Luxumer ยุคใหม่จะให้ความสำคัญกับ "ความรู้สึก" ที่เกิดจากการใช้สินค้าหรือบริการมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับโดยตรง
2. เทรนด์หรูรักษ์โลก (Eco-Conscious Luxury) จะมาแรง ชาว Luxumer ยุคใหม่ โดยเฉพาะ กลุ่ม Gen Z และ Millennials จะให้ความสำคัญกับสินค้าและบริการที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าหรือบริการที่มีนโยบาย Eco-Friendly จะกลายเป็นตัวเลือกสำคัญและมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อมากขึ้น
3. ตลาดหรูมือสอง จะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มองหาสินค้าหรูในราคาที่ถูกลง หรือเพิ่มมูลค่าได้ในระยะยาว แพลตฟอร์มออนไลน์จะกลายเป็นช่องทางสำคัญในการซื้อขายสินค้าหรูมือสอง
4. ธุรกิจเช่าความหรู (Luxury Rentals) จะเฟื่องฟูยิ่งขึ้น โดยชาว Luxumer ที่รายได้ไม่สูงนัก หรือไม่ต้องการลงทุนซื้อสินค้าราคาสูงสามารถเข้าถึงประสบการณ์หรูได้ผ่านการเช่า นอกจากราคาที่ถูกลงแล้วยังทำให้สามารถปรับเปลี่ยนสินค้าตามสไตล์และโอกาสได้มากขึ้น
ข่าวแนะนำ