สรรพสามิตเตรียมเก็บ “ภาษีความเค็ม” นำร่องขนมขบเคี้ยวในปี 68
สรรพสามิตศึกษาเก็บ “ภาษีความเค็ม” นำร่องขนมขบเคี้ยว เห็นรูปธรรมภายในปี 2568 หนุนประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมลดโซเดียม
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ในปี 2568 นี้ กรมสรรพสามิตจะผลักดันการจัดเก็บภาษีโซเดียม หรือ “ภาษีความเค็ม” ให้เห็นเป็นรูปธรรม ในรูปแบบอัตราภาษีขั้นบันได เช่นเดียวกับภาษีความหวาน ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษา โดยจะเริ่มเก็บภาษีความเค็มจากขนมขบเคี้ยว ซึ่งไม่ได้จำเป็นต่อการดำรงชีวิต
ทั้งนี้ กรมจะพิจารณาจากจำนวนเกลือที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนส่วนผสมในการปรุงรส โดย กรมจะศึกษาให้ละเอียด และรอบคอบ ไม่ให้กระทบต่อผู้ประกอบการ และมีระยะเวลาให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว
เนื่องจากการเก็บภาษีความหวาน 7-8 ปีที่ผ่านมา พบว่าประชาชนบริโภคหวานลดลง ถือว่ากลไกภาษีได้เข้ามาช่วยดูแลสุขภาพของประชาชน เพราะปัจจุบัน คนไทยกินโซเดียมสูงกว่าอัตราที่ควรจะเป็นถึง 2 เท่า ดังนั้น กรมจึงต้องเข้ามาดูว่าจะใช้กลไกภาษีอย่างไร เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภค
นอกจากนี้กรมยังคงมุ่งเน้นในการดำเนินนโยบายด้าน ESG อย่างต่อเนื่อง โดยต่อยอดการดำเนินงาน เพื่อมุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืน หรือ Sustainability สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย และปรับปรุงการทำงานให้เป็นองค์กรที่ทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้
สำหรับด้านนโยบายภาษี จะใช้ภาษีสรรพสามิตเป็นเครื่องมือในการสร้างความยั่งยืน เช่น
ภาษีรถยนต์ จะมีการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายใน ไปสู่ยานยนต์แห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ยายนต์ไฟฟ้า (EV) รถยนต์ไฮบริด เป็นต้น
ภาษีแบตเตอรี่ จะมีการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่จำเป็นต้องมีการใช้แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ โดยกำหนดเกณฑ์ตามค่า Energy Density หรือประจุไฟฟ้าต่อน้ำหนัก และรอบการอัดประจุไฟฟ้า
ภาษีคาร์บอน จะเพิ่มกลไกราคาคาร์บอนภายในโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมัน และผลิตภัณฑ์น้ำมัน จากการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับราคาคาร์บอน
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ