TNN ค้าปลีกไทย ปี 2568 ฝ่าความท้าทายรอบด้าน l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

ค้าปลีกไทย ปี 2568 ฝ่าความท้าทายรอบด้าน l การตลาดเงินล้าน

ค้าปลีกไทย ปี 2568 ฝ่าความท้าทายรอบด้าน l การตลาดเงินล้าน

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า ค้าปลีกไทยยังมีความท้าทายอยู่รอบด้าน แม้คาดว่าจะเติบโตก็ตาม

SCB EIC ออกรายงาน ประเมินว่า ภาพรวมค้าปลีกไทย ในปี 2568 คาดว่า มีแนวโน้มเติบโตที่ราวร้อยละ 5.1 ซึ่งคาดว่าจะเติบโตจากปี 2567 ที่จะมีการเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.8

แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะเติบโตชะลอลง แต่ก็คาดว่าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เริ่มดำเนินการในปี 2567 และต่อเนื่องไปถึงปี 2568 จะมีส่วนช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับผู้บริโภคระยะสั้น แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวนั้น ผู้บริโภคอาจจะยังระมัดระวังการใช้จ่ายต่อเนื่อง โดยเลือกใช้จ่ายในสินค้าจำเป็นก่อน และอาจชะลอการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย

ขณะที่ตลาด ยังได้รับปัจจัยหนุนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นกลับมาสู่ระดับช่วงก่อนโควิด ส่วนการปรับขึ้นค่าแรง SCB EIC มองว่า จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของการบริโภคในระยะข้างหน้าได้

รายงานดังกล่าว ยังชี้ว่า การเติบโตของ อี คอมเมิร์ซ ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะแข่งขันรุนแรงมากขึ้น แม้จะมีการชะลอตัวลงหลังจากช่วงโควิดระบาดผ่านพ้นไป แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลง มาเป็นการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เพราะชอบในความสะดวกสบาย 

โดยเฉพาะในกลุ่ม มาร์เก็ตเพลส รีเทลเลอร์ ที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย ทำให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบราคาและบริการของแต่ละร้านค้าได้อย่างง่าย ส่วนเทรนด์ โซเชียล คอมเมิร์ซ จะมีสัดส่วนยอดขายต่อ อีคอมเมิร์ซ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนถึงอิทธิพลของ โซเชียล มีเดีย ที่ผู้บริโภคมีการใช้งานอยู่เป็นประจำ

สำหรับกลุ่มค้าปลีก ที่ยังเติบโตได้ดี เอสซีบี อีไอซี ชี้ว่าเป็นกลุ่ม ร้านสะดวกซื้อ (CVS), ซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต และค้าปลีกที่ตอบโจทย์เทรนด์อย่าง สุขภาพและความงาม (Health & Beauty) ก็ยังเติบโตได้ดีเช่นกัน

โดยกลุ่มร้านค้าที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคสมัยใหม่ (Modern grocery) ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต ยอดขายได้กลับไปอยู่ในระดับสูงกว่าช่วงโควิดแล้ว และแม้ว่าการฟื้นตัวของกำลังซื้อของผู้บริโภค ยังเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ความต้องการในหมวดสินค้าจำเป็น ยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และหากภาครัฐปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็จะเป็นปัจจัยบวกส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคทยอยปรับตัวดีขึ้น 

ขณะที่กลุ่ม ห้างสรรพสินค้า (ดีพาร์ตเมนต์ สโตร์) ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์กำลังซื้อที่ฟื้นตัวอย่างจำกัด ส่งผลต่อแนวโน้มการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่จำเป็น แต่กลุ่มนี้ จะได้รับแรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิด ในปี 2568 ซึ่งการกลับมาของนักท่องเที่ยว จะช่วยเพิ่มการใช้จ่ายภายในห้างสรรพสินค้าและส่งผลให้ยอดขายเติบโตดีขึ้น และ ยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ

ส่วนค้าปลีกในกลุ่ม เฮลธ์ แอนด์ บิวตี้ (Health & Beauty) จะมียอดขายเติบโต สอดคล้องกับเทรนด์ของผู้บริโภคที่สนใจสินค้าทั้งในกลุ่มสุขภาพและความงามมากขึ้น ขณะเดียวกัน เทรนด์การรักษาสุขภาพและการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยยังทำให้มีความต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเวชศาสตร์ป้องกัน

มาที่ กลุ่มบ้านและสวน (Home & Garden) ยอดขายมีแนวโน้มเติบโตในอัตราชะลอตัวลง เพราะความต้องการซื้อหรือลงทุนในที่อยู่อาศัยหดตัวลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี สินค้าในหมวดนี้ ยังได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการซ่อมแซม ที่อยู่อาศัยจากทั้งกลุ่มที่อยู่อาศัยบ้านเก่าและกลุ่มที่นิยมซื้อบ้านมือสองเพิ่มมากขึ้น และที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงปี 2567

สุดท้าย กลุ่ม Apparel & Footwear คาดว่ายอดขายจะเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสินค้าในกลุ่ม ฟาสต์ แฟชั่น จะยังเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่ม แฟชั่นทั่วไป (Traditional fashion) คาดว่ายอดขายจะยังไม่กลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด ส่วนกลุ่ม สปอร์ตแวร์ และ ลักชัวรี แฟชัน ยอดขายกลับมาใกล้เคียงช่วงก่อนโควิดแล้วตั้งแต่ปี 2566 อย่างไรก็ดี ในภาวะที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในการใช้จ่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งอาจกดดันให้ยอดขายสินค้าแฟชั่นเติบโตได้ไม่มากนัก 


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง