TNN ส่องค้าปลีกคึก "อีซี่ อี-รีซีท" ยังต้องมี? l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

ส่องค้าปลีกคึก "อีซี่ อี-รีซีท" ยังต้องมี? l การตลาดเงินล้าน

ผู้ประกอบการค้าปลีก สนับสนุนรัฐให้ออกมาตรการ Easy E-Receipt มากระตุ้นกำลังซื้อในกลุ่มกลาง และล่าง เพื่อสร้างความคึกคักในช่วงพีคของบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอย

คุณณัฐธีรา บุญศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ในเครือเซ็นทรัลรีเทล กล่าวว่า ในช่วงปลายปี 2567 นี้รวมถึงปีหน้า (2568) คาดว่าตลาดค้าปลีกในภาพรวมยังเติบโตได้ดี แต่ยังหวังว่าภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะโครงการ อีซี่ อี-รีซีท (Easy E-Receipt)

กลุ่มที่เติบโตดี มาจากปัจจัยด้านการท่องเที่ยว ซึ่งหากดูเฉพาะในกลุ่มห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จะพบว่าเติบโตมากกว่าช่วงก่อนโควิดระบาด หรือก่อนปี 2019 แล้ว แต่ปัจจัยที่ท้าทาย ก็คือกลุ่มระดับกลาง ล่าง ซึ่งหากมีมาตรการ อีซี่ อี-รีซีท ออกมา ก็จะทำให้เงินเกิดการหมุนเวียนในระบบได้อย่างต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยว่า ภาพรวมค้าปลีกในประเทศ ปี 2567 ยังไม่สดใสเท่าที่ควร จากปัจจัยที่มีผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการค้าปลีก เช่น เศรษฐกิจเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเกินกว่าร้อยละ 37 ผลิต หรือสต็อกสินค้าเกินความเหมาะสมไว้ก่อนแล้ว 

ยังมีปัจจัยด้านการลงทุนที่ส่งผลต่ออัตราการจ้างงาน การบริโภค หนี้ครัวเรือนสูง และภาระหนี้สินของเอสเอ็มอี ส่วนมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท ให้แก่กลุ่มเปราะบาง นั้น ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ชัดเจน และยังต้องรอความชัดเจนของเฟสต่อไป ผนวกกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจกว่า 50,000-60,000 ล้านบาท และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ที่ต่างก็ส่งผลกรระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการใช้จ่ายของประชาชน ทั้งสิ้น

หนึ่งในข้อเสนอของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เพื่อกระตุ้นค้าปลีกในปี 2568 ก็เช่น โครงการ อีซี่ อี-รีซีท ซึ่งถูกมองว่า เป็นหนึ่งในมาตรการที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึง ตรงกลุ่มเป้าหมาย และผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายอย่างได้ผล

ทั้งนี้ อีซี่ อี-รีซีท เป็นมาตรการทางภาษี ที่กำหนดให้ประชาชนที่ซื้อสินค้าและบริการตามที่กำหนด สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ คุณ ณัฐธีรา กล่าวว่า จากการที่ใช้มาตรการดังกล่าวนี้ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จ และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบ จึงอยากเห็นความต่อเนื่องในมาตรการดังกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อมองภาพใหญ่ของภาคค้าปลีก ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญอันดับต้น ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยค้าปลีกและบริการมีมูลค่าเกินกว่า 4.4 ล้านล้านบาท

นอกจากมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อแล้ว สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยังมีข้อเสนออื่นต่อภาครัฐ มีดังนี้

เรื่องแรก คือ เดินหน้าลงทุนและเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ โดยมองว่า จะเป็นกลจักรสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2568 นี้ และเห็นว่าภาครัฐ ควรเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ ประจำปี 2568 ให้ทันท่วงที หลังจากปี 2567 มีการเบิกจ่ายที่ล่าช้า 

ข้อ 2. เสริมแกร่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นกลุ่มใหญ่ของประเทศ โดยมีจำนวนมากกว่า 3 ล้าน 2 แสนราย หรือ คิดเป็นร้อยละ 99.5 ของสถานประกอบการทั้งหมด ซึ่งการสนับสนุน ก็เช่น ส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรายย่อย เพิ่มโอกาสทางการค้า การขยายช่องทางการตลาด และการจำหน่ายสินค้า 

ทั้งเสนอด้วยว่า ภาครัฐควรออกมาตรการในการป้องกันการทะลักของสินค้าจีนราคาถูก ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเอสเอ็มอีไทยในทุกแพลตฟอร์ม

ส่วนข้อที่ 3. ก็คือ เพิ่มการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจในประเทศ เช่น อีซี่ อี-รีซีท หรือก่อนหน้านี้ที่มีโครงการ ช้อปดีมีคืน

สุดท้าย ข้อ 4 ยกระดับไทย ให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว เน้นโฟกัส ไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง มาตรการ ก็เช่น พิจารณาลดภาษีสินค้าเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว โดยการส่งเสริมให้ไทย เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วยเสน่ห์ของซอฟต์พาวเวอร์ไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ อาหาร วัฒนธรรมไทย ควบคู่ไปกับการเป็นสวรรค์แห่งการชอปปิง

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง