ปี 2568 ศก.โลกส่อฟื้น ระวังสงครามการค้า
เปิดรายงาน OECD ล่าสุด คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2568 กระเตื้องขึ้นจากปีนี้เล็กน้อย ได้แรงหนุนจากเงินเฟ้อที่ชะลอลง การค้าโลกเริ่มฟื้น แต่ยังมีความเสี่ยงหลายเรื่องที่ต้องระวัง โดยเฉพาะสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจฉบับเดือนธันวาคม ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2567 ยังคงรองรับแรงกระแทกได้ ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง (disinflation) หรือการที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นแต่สูงขึ้นในอัตราที่ต่ำลงมีส่วนหนุนการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน ประกอบกับการผ่อนคลายนโยบายการเงินในเขตเศรษฐกิจหลักส่วนใหญ่ช่วยชดเชยความไม่แน่นอนที่เกิดจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และความตึงเครียดในระดับภูมิภาค รวมถึงความกังวลเรื่องค่าครองชีพ
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่ละประเทศยังมีความแตกต่างกัน โดยในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว สหรัฐฯ มีการเติบโตที่แข็งแกร่งจากการบริโภคภาคเอกชนที่ได้แรงหนุนจากการขยับขึ้นของค่าจ้าง สำหรับเนเธอร์แลนด์และสเปน การขยายตัวของ GDP ก็เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบรายไตรมาส แต่ในฮังการีและลัตเวียเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคในไตรมาส 3 ส่วนเยอรมนีขยายตัวเล็กน้อยจากความเชื่อมั่นที่อ่อนแอกระทบกิจกรรมการลงทุน
สำหรับประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ก็มีพัฒนาการที่แตกต่างกันไป อย่างกรณีของจีน การขยายตัวของ GDP ยังทรงตัวในไตรมาส 3 จากการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวตามการส่งออก แต่ความต้องการบริโภคยังคงอ่อนแอ และวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยืดเยื้อ ส่วนอินเดียและอินโดนีเซียความต้องการในประเทศเป็นแรงผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องบราซิลเติบโตโดยได้แรงหนุนจากการบริโภคเอกชนและการใช้จ่ายของภาครัฐ ด้านอาร์เจนตินาก็ส่งสัญญาณฟื้นตัวหลังหดตัวตั้งแต่กลางปี 2565
ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline CPI) ปี 2567 ยังคงชะลอตัวในประเทศส่วนใหญ่ เนื่องจากราคาอาหาร พลังงานและสินค้าปรับลดลง โดยค่ามัธยฐาน (median) เงินเฟ้อของกลุ่ม OECD ในเดือนตุลาคมปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ชะลอตัวจากร้อยละ 3.8 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในจีนยังคงอยู่ในระดับต่ำมากตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคมส่วนใหญ่อยู่ในกรอบเป้าหมายของธนาคารกลางแต่ละประเทศ โดยในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอยู่ในกรอบเป้าหมายราว 2 ใน 3 และตลาดเกิดใหม่อยู่ในกรอบเป้าหมายราว 3 ใน 5 แต่เงินเฟ้อพื้นฐาน (core CPI) ยังคงสูงในหลายประเทศ สะท้อนถึงแรงกดดันเรื่องราคาที่ยังคงมีอยู่
ยกตัวอย่างกรณีของอังกฤษและสหรัฐฯ ราคาสินค้าราวครึ่งหนึ่งในตะกร้าที่ใช้วัดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 3 ในเดือนตุลาคมปีนี้ ซึ่งดัชนีชี้วัดในเขตเศรษฐกิจหลัก 9 แห่งสะท้อนถึงต้นทุนแรงงานที่เป็นปัจจัยหลักหนุนเงินเฟ้อ รวมถึงเงินเฟ้อภาคบริการที่ยังสูง โดยค่ามัธยฐานกลุ่ม OECD อยู่ที่ร้อยละ 4 เนื่องจากความต้องการที่แข็งแกร่ง ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานในบางภาคส่วน ทำให้ต้นทุนและราคาสูงขึ้น
ขณะที่ต้นทุนด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของเงินเฟ้อก็เป็นแรงกดดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศค่าเช่าบ้านขยับเพิ่มขึ้นมากในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วหลายแห่ง รวมถึงอังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย ลัตเวีย และโปรตุเกส ปัญหาที่อยู่อาศัยราคาเกินเอื้อมอาจจำกัดความสามารถของบุคคลในการโยกย้ายถิ่นฐาน นำไปสู่ปัญหาขาดแคลนแรงงาน แม้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง แต่แรงกดดันต่อราคาที่อยู่อาศัยยังคงอยู่จนกว่าปริมาณบ้านจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
รายงานระบุด้วยว่า ปริมาณการค้าโลกฟื้นตัวอย่างมั่นคงในปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากการบริโภคของสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน การส่งออกของจีนและเขตเศรษฐกิจในเอเชียที่มีพลวัตยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่นเดียวกับการค้าภาคบริการที่เติบโต ทั้งธุรกิจบริการและท่องเที่ยว ข้อมูลล่าสุดบางส่วนยังบ่งชี้ว่า แรงเหวี่ยงด้านการเติบโตของการค้าโลกยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง โดยปริมาณตู้คอนเทนเนอร์และปริมาณผู้โดยสารระหว่างประเทศยังคงเพิ่มขึ้น การผลิตด้านเทคโนโลยีในเอเชียก็ยังแข็งแกร่งในไตรมาส 3 ปีนี้ แต่ยอดขายรถยนต์ซบเซาเป็นส่วนใหญ่ในปีนี้ รวมถึงคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ลดลง โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจใหญ่สุดของยุโรป ซึ่งอาจเกี่ยวโยงกับความเสี่ยงในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 6.9 ของมูลค่าการส่งออกไปนอกสหภาพยุโรป (EU) และร้อยละ 5.9 ของการส่งออกภายใน EU ในปี 2566
ในแง่ห่วงโซ่อุปทานโดยรวมยังคงเป็นไปด้วยดี แม้ว่าการจัดส่งที่ล่าช้าและความแออัดในการขนส่งจะเพิ่มขึ้นในศูนย์กลางสำคัญบางแห่งของเอเชีย เนื่องจากระยะทางที่ยาวขึ้นในการขนส่งของเรือบรรทุกสินค้าที่หลีกเลี่ยงทะเลแดง ส่วนปริมาณการขนส่งทางอากาศก็เพิ่มขึ้นในปีนี้ อานิสงส์จากอี-คอมเมิร์ซที่แข็งแกร่ง
คาดการณ์ว่า ปริมาณการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.5 ในปีนี้ และร้อยละ 3.6 ในปีหน้า ก่อนจะขยับแตะร้อยละ 3.5 ในปี 2569 โดยการขยายตัวด้านการค้าในตลาดเกิดใหม่ ประกอบกับแรงหนุนด้านการลงทุนและการบริโภคในเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ มีส่วนขับเคลื่อนการค้าให้เติบโตขึ้น นอกจากนี้ คาดว่าการเติบโตของการค้าจะสมดุลมากขึ้น เนื่องจากการค้าในยุโรปที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ในระหว่างปี 2567-2569 การค้าโลกจะเติบโตแข็งแกร่งกว่าค่าเฉลี่ยช่วงก่อนวิกฤตโควิด แต่ก็ไม่ใช่ทุกเขตเศรษฐกิจ หลัก ๆ จีนและตลาดเกิดใหม่จะเติบโตอย่างโดดเด่น และจีนมีแนวโน้มที่สัดส่วนการค้าโลกจะเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า
รายงานล่าสุด OECD ประเมินว่า การขยายตัวของ GDP โลกในปีนี้น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ก่อนจะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ทั้งในปี 2568 และ 2569 โดยผลกระทบจากนโยบายเข้มงวดทางการเงินที่ออกฤทธิ์ล่าช้าจะคลี่คลายลง และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลังเงินเฟ้อชะลอตัวจะมีส่วนหนุนการใช้จ่ายที่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยในปี 2568-2569 โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชน ส่วนภาวะเงินเฟ้อลดลงจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของรายได้ครัวเรือนที่แท้จริงและในบางประเทศยังเปิดช่องให้ชะลออัตราการออมของครัวเรือนลงอีกเพื่อสนับสนุนการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน
เขตเศรษฐกิจในกลุ่ม OECD มีแนวโน้มที่การเติบโตของ GDP จะอยู่แถวร้อยละ 1.9 ในปี 2568 และ 2569 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโควิด แต่ก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ ส่วนเขตเศรษฐกิจนอกกลุ่ม OECD น่าจะเติบโตชะลอลงเล็กน้อย โดยเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียยังคงเป็นเสาหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
นอกจากนี้ ยังคาดว่าธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง เนื่องจากเงินเฟ้อชะลอตัวและแรงกดดันในตลาดแรงงานบรรเทาลง สำหรับในเขตเศรษฐกิจส่วนใหญ่ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอาจลดลงสู่ระดับปกติในปี 2569และนโยบายการคลังจะเข้มงวดขึ้นในหลายประเทศของกลุ่มOECD ในปี 2568 และ 2569 ส่วนจีนจะยังคงสนับสนุนทางการคลังและการเงินต่อไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่ในบราซิล อินเดีย และเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในตลาดเกิดใหม่หลายแห่ง มีแนวโน้มที่นโยบายการเงินจะเข้มงวดมากขึ้นในปี 2 ปีข้างหน้า
รายงานดังกล่าวคาดการณ์การขยายตัวของเขตเศรษฐกิจหลัก ๆ เริ่มจากสหรัฐฯ ที่น่าจะเติบโตแข็งแกร่ง โดยการเติบโตของ GDP มีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 2.8ในปีนี้ ก่อนชะลอแตะร้อยละ 2.4ในปีหน้า และร้อยละ 2.1ในปี 2569 ทั้งนี้ กระแสการอพยพของแรงงานต่างชาติที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีมานี้ส่งผลให้ศักยภาพการผลิตขยายตัว ขณะที่คาดว่าการบริโภคของภาคเอกชนจะชะลอตัวลง
ด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตอย่างรวดเร็วและแตะร้อยละ 1.5ในปี 2568 เนื่องจากค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้น ผลกำไรภาคธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และการอุดหนุนทางการเงินของรัฐเพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน แต่คาดว่าในปี 2569GDP จะเติบโตเหลือร้อยละ 0.6ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผสมผสานนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มงวดขึ้น
การเติบโตในเขตยูโรโซน หรือประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.8ในปีนี้ เป็นร้อยละ 1.3ในปี 2568 และร้อยละ 1.5ในปี 2569 โดยกำลังการผลิตส่วนเกินจะหมดไปภายในสิ้นปี 2569 อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงและการใช้จ่ายของกองทุนฟื้นฟูอย่างต่อเนื่องจะสนับสนุนด้านการลงทุน ส่วนการบริโภคภาคเอกชนจะได้แรงหนุนจากการตึงตัวในตลาดแรงงานและภาวะเงินเฟ้อลดลง
กรณีของจีน การเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะผ่อนลงจากร้อยละ 4.9 ในปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 4.7ในปีหน้า และร้อยละ 4.4ในปี 2569การบริโภคจะยังทรงตัว แต่ถูกบั่นทอนด้วยอัตราการออมที่ยังสูงและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังอ่อนแอ ส่งผลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ด้านการลงทุนจะได้อานิสงส์จากการผ่อนคลายาทงการเงินและการใช้จ่ายของภาครัฐที่เพิ่มขึ้น
สำหรับอินเดียน่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยอินเดียจะได้แรงหนุนจากการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริโภคภาคเอกชน หนุนให้ GDP ยังโตแถวร้อยละ 7 ในปีงบประมาณ 2568-2569 และ 2569-2570 // ด้านเม็กซิโกน่าจะโตร้อยละ 1.4 ในปีนี้ ก่อนชะลอแตะร้อยละ 1.2 ในปีหน้า และร้อยละ 1.6 ในปี 2569
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความเสี่ยงหลายเรื่อง โดยเฉพาะการค้าโลก ซึ่งรายงานล่าสุดประเมินบนสมมติฐานที่ว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายการค้า แต่การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” อาจทำให้นโยบายการค้าโลกเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากมีแผนจะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากหลายประเทศ
“อัลวาโรเปเรรา” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ OECD กล่าวเตือนว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากความตึงเครียดทางการค้าและนโยบายกีดกันการค้า โดยภาษีที่สูงขึ้นมีแนวโน้มจะทำให้การเติบโตชะลอตัวและผลักดันให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นซึ่งจะดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น
สำหรับความเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นในตะวันออกกลางหรือสงครามรัสเซีย-ยูเครน อาจนำไปสู่การกำหนดเบี้ยประกันความเสี่ยงที่สูงขึ้นในตลาดน้ำมันโลก แม้ปริมาณการผลิตจะเพียงพอในปัจจุบัน แต่ความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานอาจส่งผลกระทบต่อราคา // ภาวะเงินเฟ้อลดลงล่าช้ากว่าที่คาด ทำให้ธนาคารกลางต่าง ๆ ไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้รวดเร็ว // สถานการณ์เชิงลบที่กระทบความเสี่ยงต่อตลาดการเงิน // ราคาอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่ร่วงลงจนก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน // ความเสี่ยงเชิงลบต่อตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา อาทิ เงินทุนไหลออก หรือแรงกดดันต่อค่าเงินท้องถิ่น // เศรษฐกิจจีนที่ยังไม่แน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากกว่า 1 ใน 4 ในปีนี้
ที่มา TNN
ข่าวแนะนำ