สบน.ลุยออกพันธบัตร 1 แสนล้านปี 68
สบน.ลุยออกพันธบัตร 100,000 ล้านบาทปี 2568 นำไปชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล
นางจินดารัตน์ วิริยะทวีกุล ที่ปรึกษาด้านหนี้สาธารณะ ในฐานะโฆษกสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ในปี 2568 สบน.วางแผนที่จะออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) ในวงเงิน 100,000 ฃล้านบาท เพื่อนำไปชดเชยการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาล
โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สบน.ได้ออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน ในวงเงิน 30,000 ล้านบาท อายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2.7 โดยได้รับการตอบรับจากนักลงทุนสถาบันอย่างล้นหลาม
สำหรับพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนดังกล่าว ออกมาเพื่อนำเงินที่ได้ไปชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ 2568 ที่กำหนดให้ขาดดุลไม่เกิน 865,000 ล้านบาทนั้น
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการส่งเสริมความยั่งยืน สบน.ก็ได้กำหนดเป้าหมายหรือการกำหนดเคพีไอ โดยการออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน วงเงิน 30,000 ล้านบาท เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ได้กำหนดเคพีไอในสองเรื่อง
คือ 1.ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่เกิน 3.88 แสนตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2573 (2030) หรือร้อยละ 30 จากภาวะปกติ และ 2.ปริมาณการจดทะเบียนใหม่ของรถที่ปลดปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ ไม่ต่ำกว่า 440,000 คัน ในปี 2573
อย่างไรก็ตาม การออกพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืนล็อตใหม่ในปี 2568 นั้น สบน.กำลังอยู่ระหว่างศึกษาว่าจะให้เคพีไอใดเป็นเงื่อนไขการออกพันธบัตรความยั่งยืน โดย สบน.จะเลือกจากเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ด้านของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มากำหนด เป็นเคพีไอ เป็นเรื่องท้าทายมากสำหรับ สบน. การกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ
ทั้งนี้พันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน แตกต่างจากพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนเล็กน้อย โดยพันธบัตรส่งเสริมความยั่งยืน จะเชื่อมโยงกับเป้าหมายของประเทศในการสร้างความยั่งยืน เช่น การเพิ่มจำนวนยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงระหว่างประเทศ
ขณะที่พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน เป็นการออกพันธบัตรจะนำไปใช้โครงการใดโครงการหนึ่งเป็นการเฉพาะที่เป็นโครงการสร้างความยั่งยืน
ที่มา TNN
ข่าวแนะนำ