"KEX" โต้ข่าวลือ ยืนยันไม่ปิดกิจการ l การตลาดเงินล้าน
เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ยืนยันไม่ปิดกิจการ และ ไทย ยังถือเป็นกลยุทธ์หลักในการดำเนินธุรกิจ
คุณ ลีออน เชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) กล่าวในระหว่างการนำเสนอข้อมูลให้แก่ผู้ลงทุนทางออนไลน์ บอกว่า กระแสข่าวเรื่องการหยุดดำเนินการ หรือขายกิจการ ไม่เป็นความจริง และยืนยันว่า บริษัทฯ จะไม่ปิดกิจการ และไม่มีแผนการถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในไทย และในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป ซึ่งประเทศ ไทย ถือเป็นส่วนสำคัญในกลยุทธ์ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ และภายใต้ผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ คือ เอสเอฟ โฮลดิ้ง (SF Holding) ได้ให้การสนับสนุนบริษัทฯ ใน 3 ด้าน คือ ด้านเทคโนโลยีและความรู้ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจ, ด้านการบริหารและการแบ่งปันความรู้การดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้าย ด้านการเงินที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งด้านการเงิน ยกระดับความสามารถในการทำกำไร ซึ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินในการดำเนินธุรกิจ
ส่วนกรณีการหยุดให้บริการผ่านทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ผู้บริหาร เคอีเอ็กซ์ กล่าวว่า เกิดจากการทบทวน และศึกษาตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานเกือบ 2 ปี ทำให้บริษัทฯ มีนโยบายลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และเน้นกระจายความเสี่ยงแทน ขณะเดียวกันจะควบคุมการรับปริมาณงานจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างเข้มงวด อีกด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่ให้ราคา ที่ "ไม่สมเหตุสมผล"
ขณะเดียวกันความต้องการบริการขนส่งด่วนในประเทศไทย ลดลงตั้งแต่ปีที่แล้ว คือหลังโควิดคลี่คลาย แต่การแข่งขันยิ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มราคาต่ำ ไม่ว่าจะเป็น การจัดส่งผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และกลุ่มลูกค้าท้องถิ่นที่ต้องการ การจัดส่งราคาถูก โดยไม่ผูกพันด้านเวลาและราคา
ทั้งยังพบด้วยว่า แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซบางแห่ง บีบผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ลดราคาค่าบริการและเพิ่มข้อกำหนดด้านการให้บริการ ส่งผลต่ออัตรากำไรขั้นต่ำจากการให้บริการแพลตฟอร์มเหล่านี้อยู่ในระดับต่ำ // ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มเหล่านี้ ก็เลือกเฉพาะงานที่ง่ายให้กับบริษัทจัดส่งของตัวเอง และส่งงานยาก ๆ ที่มีต้นทุนสูง ให้กับผู้ให้บริการรายอื่น ๆ
นอกจากนี้ ยังคาดว่า ความต้องการใช้บริการในกลุ่มลูกค้า C2C จะค่อนข้างทรงตัว และท้าทาย เนื่องจากสินค้าขนาดเล็กจากผู้ค้าท้องถิ่น หรือ เอสเอ็มอี ขายให้กับลูกค้าในประเทศน้อยลง และผู้บริโภคคนไทยหันไปซื้อสินค้าขนาดเล็กจากต่างประเทศกันมากขึ้น โดยเฉพาะจากจีน
แต่ความต้องการ การจัดส่งสินค้าที่มีคุณภาพ คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นและยังสามารถพัฒนาต่อไปได้ เห็นได้จาก บริการจัดส่งด่วนระหว่างประเทศ ของบริษัท มีอัตราการเติบโตที่ดี
สำหรับ เคอีเอ็กซ์ ปัจจุบันมีเป้าหมายหลัก คือ การปรับปรุงคุณภาพการดำเนินงาน และความสามารถในการทำกำไร โดยการดำเนินกลยุทธ์ จะสอดคล้องกับทางกลุ่ม และบริษัทแม่ ที่มุ่งเน้นการเป็นแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ระดับเอเชีย ครอบคลุมการให้บริการครบวงจร แก่ลูกค้าทุกกลุ่ม, ให้บริการที่ดี และกำหนดราคาที่เหมาะสม
กลยุทธ์และจุดมุ่งหมายหลักของบริษัทฯ หลังจากนี้ คือ
1. การรีแบรนด์ ภายใต้แบรนด์ เคอีเอ็กซ์ ใหม่ พร้อมมุ่งสร้างเอกลักษณ์ที่เป็นหนึ่งเดียว สอดคล้องกันกับกลุ่มบริษัทฯ
2. ประเมิน และควบคุมกิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่ทำกำไร อย่างมีประสิทธิภาพ และกระจายความหลากหลายของธุรกิจ ลดการพึ่งพาอีคอมเมิร์ซ และลดการขาดทุนจากการแข่งขันที่รุนแรง
3. มุ่งเน้นรักษา และดึงดูดลูกค้าระดับกล่าวถึงพรีเมียม พร้อมมอบบริการ และประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า
4. ปรับและจัดสรรทรัพยากรในเครือข่าย เพื่อลดความสูญเสีย และนำมาปรับใช้ในจุดที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพ และได้กำไร ซึ่งภายใต้กลยุทธ์นี้ บริษัทฯ ได้ทบทวนและปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการ เปิด ปิด ย้ายที่ตั้ง หรือรวมศูนย์กระจายสินค้า และร้านค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และปรับกระบวนการให้คล่องตัว
และสุดท้ายกลยุทธ์ข้อที่ 5 คือ การพัฒนาธุรกิจสู่ระดับภูมิภาค และระดับสากล เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการให้บริการครบวงจร ร่วมกับกลุ่มและพันธมิตรของบริษัท
ทั้งนี้ ปี 2567 ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ เคอีเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) ก็ว่าได้ หรือชื่อเดิมคือ เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หลังมีผลประกอบการลดลงต่อเนื่องมาหลายปี จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น และการปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ
เห็นได้จาก ผลประกอบการย้อนหลังของ เคอีเอ็กซ์ นั้น มีผลขาดทุนเกือบทุกปี เมื่อย้อนไป 3 ปีก่อนหน้า เริ่มที่ ปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ กว่า 18,800 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ร้อยละ 0.5 และปี 2564 นี้มีกำไรสุทธิเพียง 46.9 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าเกือบ 100% (ลดลงร้อยละไป 96.7)
ต่อมา ปี 2565 รายได้จากการขายและการให้บริการ อยู่ที่กว่า 17,000 ล้านบาท ลดลงต่อเนื่องอีกร้อยละ 9.6 จากปีก่อนหน้า และพลิกจากกำไร เป็นขาดทุน โดย มีผลขาดทุนสุทธิ กว่า 2,800 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน มากกว่า 6000% (6,131.5%)
ส่วนปี 2566 เคอีเอ็กซ์ มีรายได้จากการขายและการให้บริการลดลงอีก อยู่ที่กว่า 11,000 ล้านบาท ลดลงไปอีก ร้อยละ 32.5 และขาดทุนสุทธิเพิ่มขึ้น อีกเป็นกว่า 3,800 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 37.1
มาดูสำหรับงวด 9 เดือนของปีนี้ ปี 2567 ผลประกอบการยังดูไม่ดีนัก โดย เคอีเอ็กซ์ มีรายได้จากการขายและการให้บริการ อยู่ที่กว่า 7,700 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน คิดเป็นลดลง ร้อยละ 14.7 และมีผลขาดทุนสุทธิ สำหรับงวด 9 เดือนอยู่ที่กว่า 3,200 ล้านบาท ขาดทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับ เอสเอฟ โฮลดิ้ง (SF Holding) เป็นบริษัทโลจิสติกส์รายใหญ่จากจีน ที่ถือหุ้นอยู่ในบริษัท เคอรี่ โลจิสติคส์ เน็ทเวิร์ค จำกัด หรือ KLN ก่อนอยู่แล้ว ทำให้ เอสเอฟ โฮลดิ้ง เป็นผู้ถือหุ้นทางอ้อมใน เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) มาก่อน
แต่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทาง KLN จ่ายเงินปันผลเป็นหุ้นของ KEX ให้กับ เอสเอฟ โฮลดิ้ง รวมถึง เอสเอฟ โฮลดิ้ง ได้มีการทำคำเสนอซื้อเพื่อครอบงำกิจการ KEX ผ่านบริษัทในไทย คือ บริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด จนปัจจุบันกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรง และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน เคอีเอ็กซ์ ปัจจุบัน
รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของเคอีเอ็กซ์ เพิ่มเติม ซึ่งเป็นข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 บริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 62.66
ถัดมาอันดับ 2 ยูโอบี เคย์ เฮียน (ฮ่องกง) ซึ่งเป็นบัญชีของลูกค้า ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 16.93
อันดับ 3 คือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นสัดส่วนร้อยละ 2.13
ข่าวแนะนำ