TNN เมล็ดกาแฟโลกราคาพุ่ง "เนสท์เล่" จ่อขึ้นรอบอีก l การตลาดเงินล้าน

TNN

เศรษฐกิจ

เมล็ดกาแฟโลกราคาพุ่ง "เนสท์เล่" จ่อขึ้นรอบอีก l การตลาดเงินล้าน

ราคาเมล็ดกาแฟในตลาดโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนสท์เล่ จ่อปรับขึ้นราคาอีก รวมถึงมีแผนปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ ให้มีขนาดเล็กลงด้วย

สำนักข่าว บลูมเบิร์ก รายงานว่า เนสท์เล่ ยักษ์ใหญ่ในวงการอาหารและเครื่องดื่ม และเป็นผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลก เจ้าของแบรนด์ เนสกาแฟ และ เนสเพรสโซ่ เตรียมที่จะปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์กาแฟ หากราคากาแฟในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงมีแผนที่จะปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ ให้มีขนาดเล็กลงด้วย

เดวิด เรนนี่ (David Rennie) หัวหน้าฝ่ายแบรนด์กาแฟของ เนสท์เล่ กล่าวว่า บริษัทฯ ไม่สามารถต้านทานกับทิศทางของราคากาแฟที่ปรับตัวสูงขึ้นได้ และ ตั้งแต่ปี 2022 เนสท์เล่ ได้ปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์กาแฟไปแล้ว 2 ครั้ง

อย่างไรก็ดี บริษัทฯ มีข้อได้เปรียบอยู่ จากการที่พอร์ตโฟลิโอของกลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟ รวมถึง กาแฟสำเร็จรูป พึ่งพากาแฟคั่วและบดน้อยกว่าคู่แข่งบางราย และยังมีแผนที่จะเพิ่มความหลากหลายของบรรจุภัณฑ์ ทั้งกาแฟแบบผสม และกาแฟแบบเติม เพื่อให้มีกลุ่มราคาหลากหลาย เป็นทางเลือกและสร้างแรงจูงใจ แก่ผู้บริโภคมากขึ้น

นอกจากนี้ เทคโนโลยีการสกัดแบบใหม่ของ เนสท์เล่ เอง ก็ยังช่วยให้สามารถดึงกาแฟออกจากเมล็ดกาแฟแต่ละชนิดได้มากขึ้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของกาแฟ

บลูมเบิร์ก รายงานด้วยว่า ในปีนี้ ราคาเมล็ดกาแฟ ปรับตัวสูงขึ้นอีก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเลวร้ายลงในแหล่งผลิตชั้นนำ ทั้งในบราซิล และเวียดนาม ทำให้เกิดความกังวลต่อผลผลิต โดยเฉพาะกาแฟ อาราบิก้า ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากจากเชนร้านกาแฟพิเศษ พบว่ามีราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปีนี้ ปรับขึ้นไปแล้วสูงถึงร้อยละ 50 ส่วนราคาฟิวเจอร์ ของโรบัสต้า ที่ใช้ในกาแฟสำเร็จรูป ก็พุ่งสูงขึ้นประมาณร้อยละ 65

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา กาแฟอาราบิก้า มีราคาพุ่งแตะสูงสุดในรอบ 13 ปี ซึ่ง บลูมเบิร์ก รายงานว่า ราคาฟิวเจอร์ ปรับขึ้นไปอยู่ที่ 2.6805 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปอนด์ สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2011 และนับตั้งแต่ต้นปี คิดเป็นปรับขึ้นไปแล้วถึงร้อยละ 40 

ทิศทางของราคากาแฟ พบว่าปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และยังมีความกังวลต่อเนื่อง ต่อผลผลิตที่มีแนวโน้มลดลง อันเนื่องมาจากปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายมากขึ้น ประเทศผู้ผลิตชั้นนำอย่าง บราซิล ก็กำลังหมดฤดูเก็บเกี่ยวของ ปี 2024 / 2025  และผลผลิต ก็มีแนวโน้มลดลงอีกจากความร้อน และแล้ง ส่งผลทำให้พื้นที่เพาะปลูกเสียหาย

โคนา ฮัก (Kona Haque) หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ ED&F Man ชี้ไปที่ประเด็นความเลวร้ายของสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ปลูกกาแฟหลัก ๆ ในบราซิล ซึ่งกำลังเกิดขึ้น และคาดการณ์ไปถึงผลผลิตในฤดูกาลหน้า ซึ่งบราซิลอาจยังต้องเผชิญกับภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ และจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตของกาแฟมากขึ้นไปอีก

ด้าน คาร์ลอส เมรา (Carlos Mera) นักวิเคราะห์ของราโบแบงก์ (Rabobank) กล่าวว่า ผลผลิต อาราบิก้า ในฤดูกาลผลิต ปี 2025 /2026 กำลังถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ปลูกอาราบิก้าต่ำกว่าระดับปกติอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ฤดูแล้งในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็ยังมีปัญหาอื่นเข้ามาเพิ่มเติมอีก โดยอุตสาหกรรมกาแฟกำลังเจอกับปัญหาความแออัดของท่าเรือในหลายประเทศ การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก ความขัดแย้งในทะเลแดง และผลผลิตกาแฟที่เวียดนามก็น่าผิดหวัง และไม่เฉพาะกาแฟอาราบิก้า เท่านั้นที่ราคาปรับสูงขึ้น โรบัสต้า ก็ปรับตัวสูงขึ้นเช่นเดียวกัน จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าตลอดห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมกาแฟ กำลังเจอกับปัญหารุมเร้า และกำลังสร้างแรงกดดันที่มากขึ้นต่อตลาดกาแฟ 

มีรายงานข่าวอีกว่า เนสท์เล่ ภายใต้การบริหารของ Laurent Freixe ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ คนใหม่ จะมีการปรับกลยุทธ์ครั้งใหญ่ ด้วยแผนการลดต้นทุน และการขับเคลื่อนการเติบโต

โดยภายในปี 2027 เนสท์เล่ จะลดต้นทุนลงอีกอย่างน้อย 2,500 ล้านฟรังก์สวิส หรือ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่ง แอนนา แมนซ์ (Anna Manz) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน ของเนสท์เล่ กล่าวว่า ความล่าช้าของการลดต้นทุน ยังหมายถึงต้นทุนของผลิตภัณฑ์ เช่น กาแฟ และโกโก้ ที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรของบริษัทฯ

นอกจากนี้ เนสท์เล่ จะมุ่งส่งเสริมด้านการตลาด เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด โดยจะเพิ่มงบลงทุนด้านการตลาดและการโฆษณาให้มากขึ้น คิดเป็นร้อยละ 9 ของยอดขายในปี 2025 

อีกทั้ง ยังมีแผนจะแยกแบรนด์น้ำดื่มบรรจุขวด และเครื่องดื่มระดับพรีเมียม ออกมาจากบริษัทแม่ ภายในต้นปีหน้า 

ก่อนหน้านี้ เนสท์เล่ มีผลประกอบการอ่อนแอ หลายไตรมาสติดต่อกัน จนสร้างความไม่พอใจให้แก่นักลงทุนในตลาดหุ้น ส่วน ฟริกซ์ เพิ่งจะเข้ามารับตำแหน่ง ซีอีโอ เมื่อเดือนกันยายน ที่ผ่านมา ต่อจาก Mark Schneider ที่พ้นจากตำแหน่งไปหลังจากเป็นผู้นำในเนสเล่มานานเกือบ 8 ปี 

โดย ฟริกซ์ ซีอีโอ คนใหม่ ผู้ซึ่งคร่ำหวอดอยู่ในวงการมานานกว่า 38 ปี เมื่อเดือนที่แล้ว ได้ปรับลดเป้าหมายการเติบโตด้านยอดขายของเนสท์เล่ ในปีนี้เหลือที่ร้อยละ 2 ซึ่งถือเป็นอัตรารายปีที่ต่ำที่สุด และคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานหลัก จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 17 รวมถึงกำลังทบทวนพอร์ตโฟลิโอในของผลิตภัณฑ์ในกลุ่มของ เนสท์เล่ ทั้งหมด และให้คำมั่นว่าจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาก่อน แทนที่จะตัดขายธุรกิจบางส่วนที่มีประสิทธิภาพต่ำออกไป

นอกจากนี้ จะปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ด้วยการลดขนาดทีมผู้บริหารระดับสูง ควบรวมธุรกิจในอเมริกาเหนือและลาตินอเมริกาเข้าด้วยกัน และยุบรวมธุรกิจในเกรทเทอร์ไชน่า เอเชีย โอเชียเนีย และแอฟริกาให้เป็นหนึ่งเดียว 

สำหรับธุรกิจน้ำดื่ม มองว่า ทีมงานต้องใช้เวลาในการทบทวนทางเลือกเชิงกลยุทธ์ แต่ค่อนข้างชัดเจนว่า จะรวมแบรนด์น้ำดื่มและแยกออกมาเป็นหน่วยธุรกิจระดับโลก จากนั้น ค่อยมองหาโอกาสอื่นต่อไป

ส่วนการลงทุนด้านการตลาด ในยุคของ ซีอีโอ คนก่อน เนสท์เล่ ได้ตัดลดงบประมาณด้านการตลาดและการโฆษณารวมถึงการลงทุนด้านนวัตกรรมในช่วงโควิด 19 ระบาด ขณะที่ แผนของ ซีอีโอ คนใหม่ จะทุ่มงบการตลาดให้ มากขึ้น เพื่อสนับสนุนแบรนด์ของเนสท์เล่ ที่มีตั้งแต่แบรนด์ อาหารสัตว์เลี้ยง ไปจนถึงกาแฟ เนสเพรสโซ่ และขนม คิตแคต ด้วยเป้าหมาย เพื่อชิงส่วนแบ่งทางการตลาดให้กลับคืนมา หลังจากบริษัทฯ สูญเสียไปก่อนหน้านี้ ในช่วงที่ราคาสูงขึ้นเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อ 

ด้าน Jean-Philippe Bertschy (ฌอง ฟิลิปป์ เบิร์ตชี่) นักวิเคราะห์ของ Vontobel กล่าวว่า มาตรการหลายอย่างในการปรับปรุงธุรกิจของ เนสท์เล่ นั้น ถือเป็นก้าวแรกในทิศทางที่ถูกต้องในการฟื้นฟูการเติบโตของยอดขาย และการประหยัดต้นทุนเพิ่มเติมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง


ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง