ไทยเศรษฐกิจโตช้า - ภาษาไม่ได้ เกือบรั้งท้ายอาเซียน “ปรับขึ้นเงินเดือนปี 68”
ไทยรั้งท้ายประเทศกลุ่มอาเซียน ปรับขึ้นเงินเดือนปี 2568 ปัจจัยเศรษฐกิจโตช้า - ติดกับดักกำแพงด้านภาษา
วันนี้ (25 พ.ย. 67) เอออน (Aon) บริษัทที่ปรึกษาด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคลระดับโลก เปิดเผยว่า งบประมาณการขึ้นเงินเดือนประจำปี 2568 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มสูงกว่าปี 2567 โดยคาดว่าจะปรับตัวขึ้นในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม นำโดยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการผลิต ส่วนอุตสาหกรรมพลังงานและบริการทางการเงินมีแนวโน้มปรับขึ้นเงินเดือนน้อยที่สุด ขณะที่เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า สิงคโปร์และไทยรั้งท้ายประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค
ข้อมูลดังกล่าวรวมอยู่ในรายงานสำรวจการบริหารความเสี่ยงทั่วโลก (Global Risk Management Survey) ซึ่งได้จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากบริษัทมากกว่า 950 แห่งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ในช่วงเดือนก.ค.-ก.ย. 2567
รายงานบ่งชี้ด้วยว่า ธุรกิจในภูมิภาคมีแนวโน้มที่จะรักษาหรือเพิ่มจำนวนพนักงานโดยรวม แม้ความล้มเหลวในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถสูงได้กลายเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับองค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเลื่อนจากการเป็นความเสี่ยงอันดับที่ 9 ในปี 2564 มาเป็นอันดับที่ 4 ในปี 2566
ทั้งนี้ประเทศที่มีการคาดการณ์การปรับขึ้นเงินเดือน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสูงไปต่ำสุด นำมาด้วยเวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, มาเลเซีย, ไทย และ สุดท้ายคือสิงคโปร์
ทั้งนี้ งบประมาณการขึ้นเงินเดือนประจำปี 2568 ในสิงคโปร์และไทยมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค โดยอยู่ที่ 4.4% และ 4.7% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตามเอออน ระบุว่า การปรับขึ้นเงินเดือนในสิงคโปร์มักจะตามหลังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากสิงคโปร์เป็นตลาดที่พัฒนาแล้ว อัตราเงินเฟ้อจึงมีแนวโน้มที่จะอยู่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นรวดเร็วกว่า และ อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสิงคโปร์มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค จึงส่งผลถึงการปรับขึ้นเงินเดือนด้วยเช่นกัน
ในส่วนของประเทศไทยนั้นไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อีกทั้งบุคลากรของไทยมีความคล่องตัวน้อยกว่าในแง่ของภาษา และการกระจายงาน จึงทำให้บุคลากรของไทยมีแนวโน้มที่จะอยู่ในตลาดของตัวเองเท่านั้น
ผลสำรวจของเอออนยังระบุว่า การปรับขึ้นเงินเดือนมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นทั่วทุกอุตสาหกรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและการผลิตมีแนวโน้มปรับขึ้นเงินเดือนสูงสุดที่ระดับ 5.8% ขณะที่ภาคค้าปลีก, ภาคบริการให้คำปรึกษา บริการทางธุรกิจ และบริการชุมชน รวมทั้งอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์และอุปกรณ์การแพทย์ มีแนวโน้มปรับขึ้นเงินเดือน 5.4%
ส่วนอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะปรับขึ้นเงินเดือนน้อยที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมพลังงาน (4.9%), บริการทางการเงิน (4.8%) และอุตสาหกรรมการขนส่ง (4.1%)
ภาพจาก: AFP
ข่าวแนะนำ