TNN แย้มของขวัญปีใหม่รัฐบาล แจกใหญ่ให้จริง เงินหมื่นต้องมา

TNN

เศรษฐกิจ

แย้มของขวัญปีใหม่รัฐบาล แจกใหญ่ให้จริง เงินหมื่นต้องมา

ขณะนี้กำลังเข้าสู่เทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมานานหลายปี ที่หน่วยงานภาครัฐ และรัฐบาลจะมีของขวัญปีใหม่ ให้กับประชาชน วันนี้จะพาไปดูว่ากล่องออกขวัญที่รัฐบาลเตรียมไว้นั้น ตรงใจใครหลายๆ คนแค่ไหน

ของขวัญชิ้นใหญ่จากรัฐบาล คงต้องรอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในวันที่ 19 พ.ย.2567 ที่มีนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ให้สัมภาษณ์เมื่อไม่กี่วันว่า ในการประชุมคณะกรรมกากระตุ้นเศรษฐกิจ จะมีการพิจารณาของขวัญปีใหม่ที่จะมอบให้ประชาชน

นอกจากนี้มีการหารือประเด็นเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ ว่าจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางใด โดยกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอแนวทางในหลายเรื่อง และจะแยกเป็นรายเซ็กเตอร์ว่าจะต้องกระตุ้นเพิ่มอย่างไรบ้าง และจะนโยบายจากกระทรวงอื่นๆ  เสนอเพิ่มเติม เช่น ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว  ของกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการลดค่าครองชีพ เกี่ยวกับราคาสินค้า

 

ส่วน “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจความต้องการของประชาชน 2568 หรือ สำรวจของขวัญปีใหม่ที่อยากได้จากรัฐบาล นอกจากนี้ยังสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับสิทธิในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ โดยจะมีการปิดสำรวจในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567

โครงการดังกล่าวจะเก็บรวบรวมข้อมูลความต้องการของประชาชน อาทิ เรื่องที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ในปี 2568 นโยบายที่ประชาชนต้องการให้รัฐดำเนินการอย่างเร่งด่วน รวมถึงสำรวจความพึงพอใจต่อผลการทำงานของรัฐบาล และความเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐบาล 

นอกจากนี้ยังสอบถามผู้ที่ได้รับสิทธิในโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ไปแล้วคือในกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และคนพิการ ในเรื่องการใช้จ่ายเงินที่ได้จากโครงการ 10,000 บาท ว่านำเงินดังกล่าวไปใช้จ่ายอย่างไร ซื้อสินค้าอะไร ซื้อจากร้านค้าประเภทไหน รวมถึงสำรวจความพึงพอใจต่อโครงการ เพื่อเป็นข้อมูลให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้วางแผนกำหนดนโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง

สำนักงานสถิติแห่งชาติจะส่งเจ้าหน้าที่ คือ "คุณมาดี" ไปสัมภาษณ์ประชาชนง และบันทึกข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่า น่าจะมีความชัดเจนหลังจากปิดการสำรวจในไม่ช้านี้

 

พาไปดูของขวัญปีใหม่รายกระทรวงที่เริ่มแย้มๆ ออกมากัน

“กระทรวงการคลัง” พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงของขวัญที่จะให้ประชาชนว่า  ในการประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะมีการหารือถึงการแจกเงินดิจิทัล หรือ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เฟส 2 โดยจะเป็นการหารือแนวทางดำเนินการ ในขั้นต่อไป หลังจากได้จ่ายเงินในเฟส 1 ให้ประชาชนกลุ่มเปราะบางกว่า 14 ล้านคนไปแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2567 นอกจากนี้จะมีการหารือถึงมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน รวมถึงหนี้บ้าน หนี้รถ และ หนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

 

“กระทรวงพาณิชย์” พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ได้เตรียมของขวัญปีใหม่ 2568 สำหรับประชาช แล้ว โดยกรมต่างๆ ภายในกระทรวงพาณิชย์ ได้เสนอมาทั้งการลดภาระต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสกว่า 35 รายการ โดยจะรวบรวมเป็นหมวดใหญ่ไม่เกิน 5 กลุ่มใหญ่ จากนั้นจะเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) รวมกับแพคเกจที่ นายกรัฐมนตรีจะแถลงในภาพรวม โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์คาดว่าจะมีแพคเกจที่มีขนาดใหญ่ ครอบคลุมกับสถานการณ์ที่ไทยกำลังเผชิญทั้งปัญหาหนี้สิน หนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งก็จะเป็นการลดภาระ และขยายโอกาสให้กับการทำธุรกิจ

 

“กระทรวงคมนาคม” เตรียมประกาศให้ใช้บริการมอเตอร์เวย์ฟรี และทางด่วนฟรี 8 วันเต็ม ในช่วงวันหยุดยาวปีใหม่  โดยขณะนี้กรมทางหลวง เตรียมยกร่างกฎกระทรวง เพื่อยกเว้นค่าผ่านทาง โดยเฉพาะทางหลวงพิเศษ เช่น หมายเลข 7 (กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา) และทางหลวงพิเศษ หมายเลข 9 (ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ) นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังหารือเพื่อสรุปของขวัญปีใหม่ ซึ่งการยกเว้นค่าทางด่วน มอเตอร์เวย์ในช่วงเทศกาลปีใหม่ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่เดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อการจราจรคล่องตัว และช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

 

“กระทรวงเกษตรฯ “ กำลังเร่งสรุป “ไร่ละ 1 พันบาทปุ๋ยคนละครึ่ง” เพื่อเป็นของขวัญให้เกษตรกรทั่วประเทศ  โดยโครงการไร่ละ 1,000 บาท ดำเนินการตั้งแต่สมัยของรัฐบาลประยุทธ์ ที่ขณะนั้นราคาข้าวตกต่ำ จึงมีการอนุมัติโครงการช่วยเหลือดังกล่าวออกมา ต่อมารัฐบาลเศรษฐามีการนำเรื่องนี้มาดำเนินการแต่ปรับเปลี่ยนเป็นปุ๋ยคนละครึ่ง เพื่อลดภาระงบประมาณลง โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) หยิบยกเรื่องปุ๋ยคนละครึ่งมาพิจารณา แต่ยังไม่มีข้อสรุป เนื่องจากต้องการให้ทบทวนอีกครั้ง จึงให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติด้านการผลิต เพื่อไปพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมนบข. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวแทนภาคการเกษตรหลาย อาทิ นายกสมาคมชาวนาไทย ผู้แทนเกษตรแปลงใหญ่ ให้ความเห็นว่า อยากจะให้ดำเนินการทั้ง 2 โครงการ ก็คือ อยากจะให้มีการอุดหนุนต้นทุนการผลิต และการพัฒนาผลผลิตควบคู่กัน ดังนั้นก็จะนำข้อมูลตรงนี้ไปหารือในชั้นของอนุกรรมการฯ ก่อนและจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม นบข.อีกครั้ง  ซึ่ง ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดว่าจะให้ได้ข้อสรุปไม่เกินเดือนธันวาคม เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ 

 

ทางด้านภาคเอกชน  สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แถลงภายหลังการประชุมกกร.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ของขวัญปีใหม่ที่เอกชนอยากได้จากรัฐบาล จะอยู่ในสมุดปกขาวที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้ว โดยมองว่ามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อช่วงปลายปีที่อยากเห็ฯ จะมีลักษณะเหมือนโครงการคนละคนครึ่ง รวมถึงการกระตุ้นการใช้สอยผ่านมาตรการ Easy e-Receipt  ที่ให้นำใบเสร็จจากการซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลเห็นด้วยและอาจจะผลักดันให้ออกมาเร็วที่สุด เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในปี 2568 

มีรายงานว่า สมุดปกขาวที่กกร.เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2567 นั้นมีข้อเสนอ“โครงการคูณสอง” รวมอยู่ด้วย โดยโครงการนี้มีลักษณะคล้ายโครงการคนละครึ่ง ก่อนหน้านี้ทางภาคเอกชนเคยเสนอในเรื่องคนละครึ่งมาแล้วหลายครั้ง แต่รัฐบาลจากพรรคเพื่อไทยยังไม่เห็นด้วย เพราะโครงการนี้ดำเนินการมาจากรัฐบาลประยุทธ์ ดังนั้นภาคเอกชนจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “โครงการคูณสอง” โดยใช้หลักการเดียวกับโครงการคนละครึ่งคือ หากประชาชนนำเงินไปซื้อสินค้า 100 บาท รัฐบาลจ่ายให้อีก 100 บาท รวมเป็น 200 บาท ซึ่งภาคเอกชนมองว่า โครงการมาตรการในลักษณะนี้ไม่เพียงช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว แต่ยังเป็นการกระจายเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณภาครัฐในปริมาณมาก ถือเป็นการกระตุ้นที่มีประสิทธิภาพและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

สำหรับ “โครงการคูณสองเน้นกลุ่มประชาชนที่มีรายได้ปานกลาง มนุษย์เงินเดือน ส่วนโครงการ Easy e-Receipt  เน้นในกลุ่มที่มีรายได้สูง กระตุ้นการใช้จ่ายผ่านสิทธิประโยชน์ทางภาษี”  ซึ่งรัฐบาลใช้งบประมาณไม่มากและสามารถประกาศใช้ 2 โครงการควบคู่กันได้ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในช่วงปลายปีให้คึกคักมากขึ้น

 

ในช่วงปีใหม่ถือเป็นช่วงที่การใช้จ่ายสะพัดมากสุด เมื่อปีที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย สำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่า การใช้จ่ายช่วงปีใหม่สูงกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท เป็นเวลา 2 ปีติดต่อกันแล้ว และประเมินว่าในปีนี้น่าจะมีการใช้ข่ายเพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาและคาดว่าจะไม่ต่ำกว่า  1 แสนล้านบาท

สำหรับแผนการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงปีใหม่หนีไม่พ้น การใช้เงินจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคสินค้าคงทน ซื้อของขวัญให้กับคนที่รัก และบางคนนำเงินไปซื้อไปท่องเที่ยวต่างประเทศ 

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง