TNN ปชช. คลายกังวลน้ำท่วม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นในรอบ 8 เดือน

TNN

เศรษฐกิจ

ปชช. คลายกังวลน้ำท่วม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นในรอบ 8 เดือน

ปชช. คลายกังวลน้ำท่วม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นในรอบ 8 เดือน

ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนตุลาคม ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ประชาชนคลายกังวลน้ำท่วม

รองศาสตราจารย์ ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2567 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 55.3 เป็น 56.0 เป็นการปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นมา 


เนื่องจากผู้บริโภคมีคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลช่วยผ่อนคลายให้สถานการณ์เศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หากรัฐบาลขับเคลื่อน และกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีต่อเนื่องและไม่มีปัจจัยเสี่ยงใดๆ เกิดขึ้นเพิ่มเติม ทั้งความเสี่ยงจากภายในและภายนอกประเทศ ผู้บริโภคก็เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาได้ 


ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 49.6 53.5 และ 65.1 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน เมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกันยายน 


ส่วนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2567 นี้ ที่เมื่อช่วงแรกมองว่าจะโตได้ ร้อยละ 3.2 ล่าสุดมองในกรอบ ร้อยละ 2.6-2.7 ซึ่งสอดคล้องกับกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มุมมองใกล้เคียงกัน โดยจีดีพีครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่ ร้อยละ 1.9 ขณะที่คาดกันว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 จะขยายตัวเด่นขึ้น แต่กลับเจอสถานการณ์น้ำท่วม และน้ำท่วมก็ขยายวงหลายจังหวัดในเดือนตุลาคม เพราะฉะนั้นความเชื่อมั่นของผู้ประกอบที่ลดลงน่าจะมาจากผลพวงจากน้ำท่วม แต่ยังมีปัจจัยบวกที่ผู้ประกอบการทุกภูมิภาคเห็นพ้องกันคือการแจกเงิน 10,000 บาท กลุ่มเปราะบาง


นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้เสนอแนวทางการดำเนินการในการแก้ไขปัญหา ได้แก่ กระตุ้นมาตรการเศรษฐกิจในช่วยปลายปี โดยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน การส่งเสริมการท่องเที่ยวทั่วไทยในช่วงปลายปี  เร่งพิจารณามาตรการเสริมทักษะแรงงาน, เสริมศักยภาพ SME, สนับสนุน SME เข้าถึงผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีความต้องการ  ออกมาตรการควบคุมสินค้าจีนที่อาจจะทะลักเข้ามาอย่างต่อเนื่องภายในประเทศไทย จนกระทบกับผู้ประกอบการไทยในอนาคต และ การรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน


ภาพจาก: AFP  

ข่าวแนะนำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง