ระบบบำนาญไทย คว้าอันดับ 43 ของโลก
Mercer ร่วม CFA Institute ดัชนีบำนาญโลกปี 2567 พบ เนเธอร์แลนด์ ครองแชมป์ดีสุดในโลก ส่วนไทยคว้าอันดับ 43 ระบบบำนาญไทย จัดอยู่เกรด C ตามหลังสิงคโปร์-เวียดนาม-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย
Mercer บริษัทด้านการลงทุนและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ร่วมกับ CFA Institute เผยแพร่ดัชนีบำนาญโลก Mercer CFA Institute Global Pension Index (MCGPI) ประจำปีที่ 16 ซึ่งเป็นการจัดอันดับระบบบำนาญทั่วโลก
โดยปี 2567 เนเธอร์แลนด์ยังคงครองอันดับ 1 ตามด้วยไอซ์แลนด์ และเดนมาร์ก ตามลำดับ ส่วนไทยติดอันดับที่ 43 ได้คะแนนรวม 50.0 คะแนน จัดอยู่ในเกรด C ตามหลังหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน ได้แก่ สิงคโปร์ (อันดับ 5 เกรด B+), มาเลเซีย (อันดับ 32 เกรด C), เวียดนาม (อันดับ 38 เกรด C) และอินโดนีเซีย (อันดับ 42 เกรด C)
Pat Tomlinson ประธานและ CEO ของ Mercer กล่าวว่า ในยุคที่อัตราการเกิดลดลงและอายุขัยยืนยาวขึ้น ระบบบำนาญเป็นหัวใจสำคัญของสังคม การปรับปรุงระบบบำนาญให้เหมาะสมและครอบคลุมคนทำงานในทุกช่วงวัยเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อให้ผู้เกษียณมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
รายงานระบุว่า ปัจจุบันหลายประเทศได้เปลี่ยนจากระบบบำเหน็จบำนาญแบบกำหนดผลประโยชน์ (DB) มาใช้ระบบจ่ายเงินสมทบที่กำหนดไว้เป็นแผนการเกษียณอายุ (DC) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ผู้เกษียณต้องรับผิดชอบการวางแผนการเงินของตนเองมากขึ้น
Margaret Franklin ประธานและ CEO ของ CFA Institute กล่าวว่า การเปลี่ยนไปสู่ระบบ DC นั้นท้าทายเพราะต้องการการตัดสินใจทางการเงินที่ซับซ้อน และคนส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในด้านนี้
อย่างไรก็ตาม Dr. David Knox ผู้เขียนรายงานหลักของ Mercer ชี้ให้เห็นว่าการปฏิรูประบบบำนาญทั่วโลกเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทำเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เกษียณที่เปลี่ยนแปลงไป การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาล นโยบาย และภาคธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญในการทำให้ผู้สูงวัยได้รับสิทธิประโยชน์อย่างสมศักดิ์ศรี
ในปีนี้ เนเธอร์แลนด์ได้คะแนนสูงสุดที่ 84.8 โดยมีไอซ์แลนด์ที่ 83.4 และเดนมาร์กที่ 81.6 ระบบบำนาญของเนเธอร์แลนด์ได้รับคะแนนสูงสุดในด้านความเหมาะสม ขณะที่ไอซ์แลนด์ได้คะแนนสูงสุดในด้านความยั่งยืน และฟินแลนด์ได้คะแนนสูงสุดในด้านความน่าเชื่อถือ
ที่มา Mercer
ข่าวแนะนำ