คลัง มองจีดีพีปีนี้โตร้อยละ 2.7 แย้มใกล้ได้ข้อสรุปแผนปรับโครงสร้างหนี้
"พิชัย" รมว.คลัง มองเศรษฐกิจไทยปี 67 เติบโตร้อยละ 2.7 ขณะที่ปีหน้าคาดโตร้อยละ 3 แย้มใกล้ได้ข้อสรุปออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ร่วมธปท.-สมาคมธนาคารไทย
สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จัดงานประกาศรางวัลสุดยอดผู้นำองค์กรภาคเอกชน (สุดยอดซีอีโอ) ประจำปี 2567 โดยได้รับเกียรติจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้มอบรางวัล ณ โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ
นอกจากนี้ยังมีการเสวนาหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย โอกาส และความท้าทายในปี 2568” โดย 3 กูรูเศรษฐกิจ ได้แก่ นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย , นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
ปิดท้ายด้วยการกล่าวปาฐกถาพิเศษของ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ในหัวข้อ “Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the Future”
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Thailand 2025: Opportunities, Challenges and the Future” ระบุว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวค่อนข้างต่ำมาเป็นระยะเวลานานมากกว่า 10 ปี เห็นได้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ร้อยละ 1.9 ขณะที่ปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.7 บวกลบ
ส่วนปี 68 หากอยู่บนสิ่งที่เห็น การขยายตัวน่าจะได้ถึง ร้อยละ 3 ซึ่งผมคิดว่าร้อยละ 3 มันเหมือนกับการอยู่ไปแบบไม่ได้มองว่าไทยมีศักยภาพอะไรบ้าง มีโอกาสอะไรบ้าง เราก็ยอมรับได้ แต่ก็คิดว่า มันควรจะขึ้นไปได้มากกว่านี้ แต่เราอาจจะมองลึกไปถึงตอนที่ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 เศรษฐกิจมันโตมาในระดับหนึ่ง อาจจะเห็นว่าเรียลจีดีพีที่ร้อยละ 3.5
ด้านปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทย เคยอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 70-80 ต่อจีดีพี ขณะที่ปัจจุบันขึ้นมาร้อยละ 90 กว่าต่อจีดีพี และปรับลดลงมาเหลือร้อยละ 89 โดยตัวเลขที่ลดลงไม่ได้เป็นผลจากหนี้ครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นหรือลดลง
แต่เพราะจีดีพีขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ประกอบกับสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่อทั้งประชาชนและภาคเอสเอ็มอี สะท้อนว่า คนที่เป็นกำลังของประเทศหนี้ท่วม
ขณะที่หนี้ของรัฐบาลปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 65-66 โดยรัฐบาลพยายามรักษาวินัยการเงินการคลังเพื่อไม่ให้หนี้สูงและมีกรอบไว้ที่ร้อยละ 70 ต่อจีดีพี ซึ่งไม่ควรจะมีหนี้เกิน 14 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจุบันหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 12 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงเหลือช่องแค่ 1 ล้านล้านบาทเศษเท่านั้น
ด้านนโยบายการเงินของไทย อัตราดอกเบี้ยของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยก่อนหน้านี้อยู่ที่ร้อยละ 2.5 เป็นระยะเวลานาน แต่ก็มีคนเรียกร้องให้ต่ำอีก
นายพิชัย กล่าวว่า สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนนั้น จะต้องปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครัวเรือน อย่างน้อยหนี้ไม่ลด แต่ภาระลด โดยหนี้เท่าเดิม หรือลดลงนิดหน่อย แต่ภาระการจ่ายลดลง มีโอกาสที่จะจ่ายยาวขึ้น ดอกเบี้ยน้อยลง เช่นเดียวกับที่ธนาคารออมสินดำเนินการมา ใช้จังหวะที่แบงก์แข็งแรงมาช่วย
สำหรับที่ผ่านมา ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย เพื่อดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคครัวเรือน โดยเฉพาะรถยนต์กระบะ และอสังหาริมทรัพย์
โดยคาดว่าจะได้ความชัดเจนเร็วๆนี้ เพื่อให้ประชาชนอยู่ได้ ขณะที่สถาบันการเงินก็จะมีโอกาสปล่อยสินเชื่อใหม่เข้าไปในระบบมากขึ้น
ขณะที่การลงทุนของนักลงทุนต่างชาตินั้น ปัจจุบันแม้จะมีความสนใจเข้ามาจำนวน แต่ทั้งนี้ต่างชาติที่ต้องการลงทุน ต้องการความยาวนาน การลงทุนสมัยใหม่นี้ หลายแสนล้านบาท การปักหลักฐานเขาจะมาอยู่กับไทยที่มีสัญญาเช่าที่นาน เช่น 99 ปี หากไม่มีสัญญาณให้เช่าขนาดนี้ โอกาสที่จะทำให้การลงทุนนั้นยากขึ้น
สำหรับ 99 ปี คือ ในต่างประเทศ เขาเปิดโอกาสให้ต่างชาติใครอยากซื้อที่ดินก็ซื้อได้เลย ส่วนการเช่า ถ้าจะเอาที่เช่าไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินก็ค่อนข้างยาก จึงเป็นที่มาของการเช่ายาว เพื่อมีสิทธิ์ในที่
เช่น ทรัพย์อิงสิทธิ์ ที่จะนำไปขอกู้กับสถาบันการเงินได้ แสดงว่ามีสิทธิในการใช้ ไปแบงก์กู้ได้ อย่ามองว่าทรัพย์พวกนี้จะตกไปที่ต่างชาติ อย่างที่ดินของรัฐที่เยอะนั้น ก็เอามาสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย แล้วก็ให้เช่าในราคาถูกระยะเวลานาน
ข่าวแนะนำ